“อภิสิทธิ์-ปิยบุตร-โภคิน”เห็นพ้องแก้รธน. ป้องกันยึดอำนาจอีก

24 มิ.ย. 2566 | 08:44 น.

“อภิสิทธิ์-ปิยบุตร-โภคิน”เห็นพ้องแก้รธน. เน้นบทบาทความสัมพันธ์ภาครัฐ-ประชาชน วางกติกาป้องกันการยึดอำนาจอีก ศาลต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยตามคำสัตย์ปฏิญาณ

วันที่ 24 มิ.ย. 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) จัดกิจกรรมเชิดชูครูกฎหมาย ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 11 โดยในช่วงเช้ามีพิธีสงฆ์ ทำบุญถวายสังฆทาน จากนั้น มีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ "91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง 2566 : กฎกติกาทางรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับการเมืองไทย" 

มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนา

นายโภคิน กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาปัญหาของประเทศเกิดจากการถูกขับเคลื่อนด้วย 3 ส่วน ศักดินานิยม อำนาจนิยม และ ประชาธิปไตย จนถึงปัจจุบันก็ยังมีแกนหลักเป็นความคิดและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ส่งผลถึงระบบการศึกษา ที่จะเห็นว่ามีระบบโซตัส เป็นวัฒนธรรมที่เกาะกิน  

พร้อมยกตัวอย่าง สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีการแบ่ง สิงห์ดำ สิงห์แดง ตำรวจก็แบ่ง นายร้อย จปร. นายร้อยอบรม ประชาชนอยู่ห่างออกไป ขณะที่กลไกข้าราชการคือ ปีศาจ เพราะแม้แต่รัฐมนตรีเมื่อเข้าไปบริหารก็เป็นทาสข้าราชการ เพราะมีระเบียบอยู่ 

นายโภคิน แนะนำว่า การแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหา ถ้าจะแก้ใหม่เว้นหมวด 1 หมวด 2 และให้มีการนำร่างที่ถูกตีตกขึ้นมาทำใหม่  โดยสิ่งที่ต้องตอบโจทย์คือ จะวางกติกาอย่างไรให้ยึดอำนาจไม่ได้ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ว่าชั่วคราวหรือ ถาวร สิ่งที่ไม่เคยแตะเลยคือ อำนาจเป็นของประชาชน  

"ต่อไปนี้การยึดอำนาจให้ถือว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายล้มล้างรัฐธรรมนูญ และให้ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากยึดอำนาจก็จะติดคุกถูกดำเนินคดี และศาลต้องให้สัตย์ปฏิญาณว่า มีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ" นายโภคิน กล่าว

ด้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การมาร่วมงานวันนี้ทำให้นึกถึงตอนเป็นอาจารย์ ซึ่งขณะนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2534 ผ่านมา 30 ปี ก็ยังเป็นแบบเดิม ยืนยันรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่กติกาที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ ซึ่งนายเจษฎ์ ที่เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตามที่นักวิชาการออกแบบ 

นายอภิสิทธิ์ ยังมองเรื่องการทำประชามติที่มี 2 ครั้ง ว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขทุกประการ แต่ไม่ทราบว่าตอนนี้ได้ข้อยุติแล้วหรือไม่ เมื่อเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขไม่สามารถเดินต่อได้ และคงต้องรื้อฟื้นกระบวนการทำประชามติ ซึ่งเลวร้ายสุดคือ ต้องรอ ส.ว.ชุดใหม่ และหวังทุกพรรคเห็นตรงกัน

“หากต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จากหมวด 3 เป็นต้นไป โจทย์สำคัญคือ กระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ ทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของ และหัวใจของการเขียนกติกาใหม่ คือ หวังว่าเราจะกลับไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างสั้น เพราะเมื่อใส่เนื้อหาเยอะทำให้ประเด็นหลักถูกบดบัง เหมือนหาเสียงให้รัฐธรรมนูญ และควรกำหนดบทบาทภาครัฐกับความสัมพันธ์กับประชาชน 

ดังนั้น สิทธิเสรีภาพสำคัญ อาจครอบคลุมถึงสวัสดิการ ที่ต้องไม่ให้ หรือทำอะไรกับประชาขน มีกลไกที่อิสระและศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ  ส่วนเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐและแผนยุทธศาสตร์ ไม่ควรจะมี ควรให้น้ำหนัก กับการจัดรูปแบบความสัมพันธ์รัฐกับประชาชนอย่างไร”

นอกจากนี้ จะต้องไม่ย้อนหลัง วนเวียน เรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ หากดูในต่างประเทศจะเห็นว่า ไม่ได้อิงกับรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองรองรับ 

“อย่างประเทศอังกฤษ ที่สามารถตั้งคณะกรรมการธิการเสียงข้างมาก จนชี้ให้เห็นว่า อดีตนายกฯ พูดเท็จต่อสภา และถูกตัดสินลงโทษ เพราะเขาไม่ได้คิดว่าให้รัฐบาลชนะทุกเรื่อง จึงจะมีเสถียรภาพ ไม่มีเรื่องไม่ไว้วางใจ ไม่มีองค์กรอิสระ แต่การรับผิดชอบเกิดจากประเพณี เกิดจากสำนึกที่สร้างขึ้นมา เราต้องยอมรับว่าล้มเหลวในการสร้างสิ่งนี้ ในปี 2538  จากนั้นจึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เพื่อแก้ปัญหา  ดังนั้น หากจะแก้ หรือ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องยึดแบบเดียวกัน”

นายอภิสิทธ์ ย้ำว่า ที่เรามีปัญหาเพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ตั้งโจทย์ประเทศ แต่ตั้งโจทย์ให้ผู้มีอำนาจสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่การทำประชามติไม่เสรี ผู้ร่างกระโดดมาเล่นเอง จากการแต่งตั้ง ส.ว. และตนไม่ได้มองตัวบุคคลแต่เชื่อว่าตั้งแต่มีองค์กรอิสระ หลังปี 2540 เป็นต้นมา ความเชื่อถือในยุคนี้ต่ำที่สุด และแทบมองไม่เห็นว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร 

“เราไม่ได้มองว่า ควรมี ส.ว. องค์กรอิสระอย่างไร แต่ต้องตอบให้ได้ว่าจะถ่วงดุลอย่างไร ผมไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกองค์กรอิสระ และ ส.ว. แต่มองเรื่องการสร้างสำนึก”

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ด้วยว่า การที่ให้ศาลวินิจฉัยไปถึงจริยธรรม กลับยิ่งเป็นปัญหา หากยังทำไม่ได้ ต้องเลือกว่าจะให้ศาลมีบทบาทมากขึ้นหรือไม่ จะปรับอย่างไร  ถ้าไม่เอาศาลต้องออกแบบใหม่ให้เรียกความมั่นใจประชาชนกลับมาได้  

“ถ้า ส.ว.เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบ ถ่วงดุล แต่หากไม่ได้มาจากประชาชน ก็มองว่าให้อำนาจเขามากเกินไป สิ่งที่ยากในเรื่องนี้คือ วิธีการ และหวังว่า 30 ปี ข้างหน้าผมคงไม่ต้องมานั่งแบบนี้อีก”

นายอภิสิทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในตอนนี้ทุกคนกังวลเรื่องตั้งรัฐบาล แต่ตนก็คาดหวังว่า สภาจะให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามว่า มี ส.ว.ไว้ทำไม 30 ปี ในทางการเมืองเห็นช่องโหว่ในการหาวิธีแทรกแซง จึงต้องสร้างกติกาพร้อมการยอมรับประเพณีบางอย่างไม่ให้เกิดการกินรวบ เป็นโอกาสของความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ 

ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ แสดงความเห็นว่า ถ้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องรับฟังให้รอบด้าน ถ้ามีการแต่งตั้ง สสร. ก็แต่งตั้งไป แต่อย่าให้ยกร่าง แต่ให้รับฟังความเห็ว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน ให้เอาคนที่สามารถยกร่างได้มานั่งเขียน เหมือนจ้างคนขับรถมาขับให้

ขณะที่ นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสัมพันธภาพทางอำนาจ เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจ ก็จะเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นหนึ่งในนั้น มองว่าทำให้รัฐประหาร 2557 เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาองค์กรอิสระ และ ศาลรัฐธรรมนูญ 

“คนยึดอำนาจทำง่าย แต่คนทำรัฐธรรมนูญทำยาก ผมเห็นด้วยกับ นายอภิสิทธ์ ว่า ควรเขียนให้สั้น ระบบเลือกตั้งไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ กติกาให้อยู่ในกฎหมายประกอบ ถ้าอยู่ในรัฐธรรมนูญแก้ไขยาก ด่านสำคัญในการแก้ คือ วุฒิสภา และ ศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมาถูกตีตกหมด”

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองเมื่อประชาชนอยากแก้มาก แล้วระบบรัฐธรรมนูญปิดช่อง ท้ายที่สุดพลังของฝ่ายที่จะทำใหม่กับฝ่ายไม่ให้แก้ ฝ่ายไหนมีมากกว่ากัน หวังว่าหาก ครม.ชุดนี้ตั้งขึ้นจริง การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ผ่านไปได้  เชื่อว่าคนที่เลือกก้าวไกล เพื่อไทย พรรคอันดับ 1 และ 2 ไม่ได้คิดเพียงว่าอยากให้ใครเป็นรัฐบาล แต่มองถึงการทำรัฐธรรมนูญใหม่ หาก 2 พรรคตั้งรัฐบาลได้ วาระสำคัญที่จะทำแรกๆ คือ การแก้รัฐธรรมนูญ 

"บอกสมาชิกตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกลตลอดว่าเวลาเขียนรัฐธรรมนูญอย่าคิดถึงหน้าคน และอย่าคิดว่าตนจะเป็นฝ่ายชนะตลอด แต่ต้องเขียนให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ ช่วยกันสร้างกติกาพื้นฐานว่ารัฐบาลมาจากประชาชน และมีการตรวจสอบที่ทีเสถียรภาพ  รวมถึงองค์กรตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องปรับเรื่องนี้ด้วย "

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ในความเห็นตนประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิสภาก็ได้ อาจจะเป็นสภาเดียวก็ได้  และประเทศใช้ระบบสภาเดียวของไทยจะไปไกลถึงขั้นนั้นได้หรือไม่ และหากมีสภาเดียวจะทำอย่างไรให้เสียงข้างมากไม่ครอบงำเสียงข้างน้อย จนสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ

ส่วนองค์กรอิสระที่มีปัญหาพัวพันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อกำหนดให้องค์กรอิสระมีอำนาจตรวจสอบ จึงควรแบ่งให้ชัดเจน เช่น ในต่างประเทศ ที่มาจาก ส.ส. และ ส.ว. อย่างละครึ่ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล และเท่าที่คุยกับก้าวไกล เห็นด้วยกับการที่ให้ฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการเพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจสอบ