ครบรอบ 9 ปี รัฐประหารสู่ก้าวแรกรัฐบาลก้าวไกล เซ็น MOU พรรคร่วม

22 พ.ค. 2566 | 00:36 น.

ครบรอบ 9 ปี วันที่ 22 พ.ค. 2557 รัฐประหารสู่ก้าวแรกของรัฐบาลก้าวไกล "พิธา" ปักหมุดเซ็น MOU พรรคร่วม 8 พรรค จัดตั้งรัฐบาล

พรรคการเมือง 8 พรรค ที่ถูกทาบทามให้ร่วม "จัดตั้งรัฐบาล" จากพรรคก้าวไกล จะตกผลึกและร่วมแถลงรายละเอียดของ MOU ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยได้รับการยืนยันจาก "นายชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ว่า จะแถลงข่าวการเซ็นบันทึกความร่วมมือ กับ 8 พรรคการเมือง ในวันที่ 22 พ.ค.66 เพราะเป็นวันครบรอบการ รัฐประหารในปี 2557

สำหรับไทม์ไลน์การแถลงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และพรรคร่วมรัฐบาล พรรคก้าวไกลเริ่มขยับในการ เปิด-ปิด ดีล เพื่อจบให้โดยเร็ว ส่วนรายละเอียดต่างๆ ยังไม่มีออกมาให้เห็นเเม้จะมีการอ้าง โผ ครม. แบ่งกระทรวงรัฐบาลก้าวไกลออกมาก็ตาม แต่ในทางหนึ่งหลายคนก็จับตาถึงการเลือกวันที่ 22 พ.ค.2566 หรือ ครบรอบ 9 ปี รัฐบาลเพื่อเซ็น MOU  สะท้อนนัยทางการเมือง

ย้อนประวัติศาสตร์ไทย 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 วันรัฐประหารครั้งที่ 13 

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

การรัฐประหารเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมือง ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา

กระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ฃ

วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลายประเทศกล่าวถึงรัฐประหารครั้งนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนในประเทศไทยมีการตอบสนองทั้งสนับสนุนและต่อต้าน

 

ครบรอบ 9 ปี รัฐประหาร

ขณะที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและเสริมอำนาจให้กับ คสช. ซึ่งต่อมา คสช. ได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 250 คน และได้ลงมติเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมามีการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน โดยมีอำนาจเสนอข้อเสนอปฏิรูปและรับรองรัฐธรรมนูญใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน เเละได้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีการยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จำนวน 21 คน แต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน เพื่อขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปของ คสช.

เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทยพร้อมคำถามพ่วงให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญนี้มีอำนาจร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วง 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภา การลงประชามติเกิดขึ้น

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 50,071,589 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 29,740,677 คน คิดเป็น ร้อยละ 59.40 เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 คะแนน (ร้อยละ 61.35) ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คะแนน (ร้อยละ 38.65) เห็นชอบคำถามพ่วง 15,132,050 คะแนน (ร้อยละ 58.07) ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน (ร้อยละ 41.93) นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจของ คสช. และการสร้างประชาธิปไตยแบบถูกควบคุมกำกับไว้ในบทบัญญัติต่าง ๆ 

ต่อมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่งผลให้ คสช. สิ้นสุดลงโดยผลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้โอนอำนาจหน้าที่ที่คงค้างของ คสช. ให้คณะรัฐมนตรีและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต่อไป

การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม รวมทั้งเกิดการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างมากมายในช่วง พ.ศ. 2563 – 2564 

ข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า