อดีตผู้ว่าธปท. อัดแจกคนละ 10,000 นโยบายไร้ความรับผิด

12 เม.ย. 2566 | 09:00 น.

อดีตผู้ว่าธปท. อัดนโยบายหาเสียงแจกเงินคนละ 10,000 บาท ไร้ความรับผิดชอบ แจกเงิน สร้างหนี้ ทำให้ประชาชนขาดวินัย ยกตัวอย่างสิงคโปร์แจกเงิน

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงเรื่องภาระการคลังของการแจกเงิน  โดยระบุว่า ประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปมีประมาณ 85% ของประชากร 67,000,000 คน จึงเทียบเท่ากับประมาณ 55,000,000 คน แจกให้คนละ 10,000 บาท เทียบเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมด 550,000 ล้านบาท

ถามว่าจะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาจากไหน ? 

ถ้าเงิน 550,000 ล้านบาทที่ใช้จ่ายออกไปมีการเก็บภาษีวีเอที 7% เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะได้ภาษี 38,500 ล้านบาท แต่จริงๆเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะร้านขายของในละแวกบ้าน นอกอาจจะเป็นร้านเล็กๆ ยังไม่อยู่ในระบบภาษี

"แต่เอาเถอะยกผลประโยชน์ให้ว่าเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาอาจจะโต้แย้งได้ว่าเงิน 550,000 ล้านบาทสามารถหมุนได้หลายรอบ ก็จะเก็บภาษีได้หลายรอบ และบริษัทที่ผลิตสินค้าขายได้มากขึ้นก็น่าจะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น"

นอกจากนี้ยังระบุว่า ยังต้องหาเงินมาโปะส่วนที่ขาดอีก 511,500 ล้านบาท ปัดตัวเลขกลมๆเป็น  500,000 ล้านบาทเลยก็ได้ ถ้าไม่ขึ้นภาษีก็ต้องเบียดมาจากการใช้จ่ายรายการอื่นๆ ซึ่งไม่น่าจะเบียดมาได้มากนัก เพราะตัวเลข 500,000 ล้านบาทนี้เทียบเท่ากับ 17 ถึง 18% ของงบประมาณคาดการณ์ของปี 2023 จึงเป็นสัดส่วนไม่น้อย เมื่อหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องกู้มาโปะส่วนที่ขาดดุลมากขึ้น 

อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในปี 2023 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.36% ถ้าต้องกู้มากขึ้นอีก 500,000 ล้านบาทสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2.8% รวมเป็น 64.16%

"เราเคยตั้งเป้าว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ให้เกิน 60% แต่ช่วงที่ผ่านมาเราต้องประคับประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด จึงยอมให้สัดส่วนนี้สูงเกิน 60% และมีเป้าหมายจะดึงลงมาให้อยู่ในระดับ 60% โดยเร็ว" 

นโยบายแจกเงินมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะโตประมาณ 3 ถึง 4% โดยมีตัวช่วยคือการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาในช่วงโควิดรัฐบาลได้ใช้เงินไปในการพยุงเศรษฐกิจมามากพอแล้ว ปีหน้าจึง​ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่ายเป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ ยกเว้นในกรณีจำเป็น เช่นในช่วงโควิดที่หัวรถจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆไม่ทำงาน เพราะใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างกรณีสิงคโปร์มีการให้เงินกับประชากรคนละ 600 เหรียญตั้งแต่ช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย โดยกำหนดให้ไปเรียน หรือหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันกับวิทยาการใหม่ใหม่เพื่อจะได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นโยบายแบบนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการแจกเงินให้ไปใช้จ่าย ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้กันเพลินจนหนี้ครัวเรือนสูงมากเป็นปัญหาต่อเนื่องอยู่แล้ว

"เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้วเศร้าใจ นอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ แทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง" อดีตผู้ว่า ธปท.กล่าว