ตีกรอบ ครม.รักษาการ ใช้อำนาจ - หาเสียง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

21 มี.ค. 2566 | 23:45 น.

คณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป(ครม. รักษาการ) จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ กรอบใช้อำนาจ - หาเสียง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ดูที่นี่

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทุกพรรคการเมืองต่างลงพื้นที่หาเสียงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแนะนำตัวผู้สมัคร และนโยบายพรรคของตนเอง 

คณะรัฐมนตรีทั้งหมด อยู่ในสถานะของรัฐบาลรักษาการ ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ทั้งสถานะของนักการการเมืองที่จะต้องลงพื้นที่ทำคะแนน และความเป็นรัฐมนตรีรักษาการไปพร้อมๆกัน กฎหมายจึงต้องตีกรอบการใช้อำนาจ และทรัพยากรรัฐ เพื่อป้องกันความได้เปรียบเสียเปรียบต่อกันในสนามเลือกตั้ง

ครม. รักษาการ

กรอบอำนาจหน้าที่ ครม. รักษาการ

  • ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยไม่อนุมัติงาน หรือโครงการ ที่มีผลสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 
  • ไม่กระทำการใด ๆ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชุดต่อไป เช่น การกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีผลต้องดำเนินการต่อเนื่อง
  • ไม่แต่งตั้ง หรือโยกย้าย ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
  • ไม่อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน 
  • ห้ามใช้ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ ในลักษณะสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง 
  • ห้ามจัดให้มีการประชุมครม.นอกสถานที่ 
  • ห้ามใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ไปจัดการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
  • ห้ามอนุมัติ โอน หรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน
  • ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

กรอบการหาเสียง ของผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรี

  • ห้ามใช้เวลาราชการในการหาเสียงเลือกตั้ง หากจะใช้เวลาหาเสียงเลือกตั้งให้ลากิจต่อนายกรัฐมนตรี
  • กรณีนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะลากิจ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 หมวดการลาของข้าราชการการเมือง
  • การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรัฐมนตรี ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีการได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ ในฐานะของตำแหน่งรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่รัฐมนตรีเท่านั้น
  • การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีรูปภาพของรัฐมนตรีปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณา หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์ ควรปลดป้ายหรือยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมด เว้นแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด 
  • ห้ามใช้รถประจำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของราชการ ไปในภารกิจอื่นที่ไม่ได้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ของในฐานะรัฐมนตรี
  • ห้ามให้สัมภาษณ์รายการวิทยุและโทรทัศน์และการรับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ในรายการที่ทางหน่วยงานราชการซื้อเวลาไว้หรือจัดขึ้น ยกเว้นรายการที่ไม่ใช่กิจการของรัฐบาลจัดขึ้นเอง
  • สามารถติดชื่อและรูปผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือแคนดิเดตชิงนายกรัฐมนตรีในนามพรรคนั้นๆ หรือรูปคู่กันระหว่างผู้สมัครและผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคได้ แต่ไม่ควรระบุตำแหน่งข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำของบุคคลนั้นลงไป