ชาติไทยพัฒนา ปั้นไทยศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เข้าประเทศ

07 มี.ค. 2566 | 14:00 น.

ชาติไทยพัฒนา ปั้นไทยศูนย์กลางด้านคาร์บอนเครดิต ชูนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนประเทศสู่เวทีโลก สร้างรายได้ให้ประชาชน  

เครือเนชั่น จัดสัมมนา อนาคตประเทศไทย : นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยในช่วงเปิดนโยบายพรรคการเมือง มีตัวแทนร่วมแสดงวิสัยทัศน์ที่จะผลักดัน "นวัตกรรมนำไทย เชื่อมโลก"

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุตอนหนึ่งว่า พรรคเชื่อว่าการแก้ปัญหาของประเทศด้วยนวัตกรรมสามารถที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างก้าวกระโดดได้ นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนประเทศและสร้างรายได้ให้กับคนไทยจากสิ่งแวดล้อมไทย และสิ่งแวดล้อมโลก

จากรายงานปี 2019 ระบุว่า ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก  372 ล้านตัน ตรึงก๊าซเรือนกระจก 92 ล้านตัน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ 280 ล้านตัน นี่คือ โจทย์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องแก้ไข ก๊าซเรือนกระจกวันนี้เป็นอันตรายทำให้เกิดภัยพิบัติแล้ว เช่น น้ำท่วมฉับพลัน

ดังนั้น ประเทศใดก็ตามที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องจ่ายเงิน และประเทศใดที่ลดหรือตรึงก๊าซเรือนกระจกจะได้เงินซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาจึงต้องการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้คนไทยที่ลดและตรึงก๊าซเรือนกระจกมีรายได้ และช่วยให้ประเทศสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมคาร์บอนเครดิตของพรรค 

ทางพรรคตั้งใจที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อการใช้นวัตกรรมที่จะนำไปสู่การตั้ง "ศูนย์เอเชีย-แปซิฟิก คาร์บอนเครดิต" ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1.การวัด ประเมิน และรับรองมาตรฐานคาร์บอนเครดิต ซึ่งการวัดในระดับเธียร์สามระดับที่สูงที่สุดในโลก ณ เวลานี้ คือ การวัดคาร์บอนเครดิตด้วยดาวเทียมที่สามารถวัดต้นไม้ได้ทุกชนิด ทุกต้น และทุกแปลงได้ตลอดทั้งปี 

2. การวัดในภาคพื้นดินด้วยการตั้งเสาสัญญาณที่จะสามารถวัดคาร์บอนเน็ตได้ตลอดเวลารวมทั้งคาร์บอนที่อยู่ในดินด้วย  

3. การนำผลการวัดจากดาวเทียมและเสาสัญญาณดังกล่าวมาเปรียบเทียบกัน และคำนวณด้วยต้นแบบทางคณิตศาสตร์ที่จะทำให้สามารถได้ค่าคาร์บอนเน็ตที่มีความแม่นยำ แน่นอน ละเอียดและต่อเนื่องซึ่งเป็นการวัดตามมาตรฐานที่โลกรับรอง 

ชาติไทยพัฒนา ปั้นไทยศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เข้าประเทศ

ทั้งนี้ จากงานวิจัยคาดการณ์เบื้องต้นว่า สวนป่าของไทยตรึงคาร์บอนได้ 5 ตันต่อไร่ต่อปี สวนยางตรึงได้ 5.5 ตันต่อไร่ต่อปี สวนปาล์มตึงได้ 4 ตันต่อไร่ต่อปี และนาข้าวตึงได้ 3.13 ตันต่อไร่ต่อปี

ต่อมาคือ ตลาดซื้อขายคอร์บอนเครดิตโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนโดยการนำคาร์บอนเครดิตที่ได้มาตรฐานสากลผ่านกระบวนต่าง ๆ ให้เป็นฐานข้อมูลที่จะยืนยันความเป็นเจ้าของของแต่ละคนได้ซึ่งนี่เป็นสินทรัพย์ที่จะซื้อขายได้ โดยจะมีการจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศไทย รวมถึงมีระบบที่ทำการจ่ายเงินและชำระเงินได้ นอกจากนี้คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสู่การเลิศในการถ่ายทอดเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ เมื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วจะนำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาด้วยเช่นกัน 

สุดท้าย คือ การสร้างเครือข่ายในภูมิประเทศเอเชียและแปซิฟิกสู่เวทีโลกซึ่งหมายถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ การวัดคาร์บอนเครดิต และการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้นซึ่งไทยก็จะเป็นผู้นำในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมที่กล่าวมานี้คือ การใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เหล่านี้คือ นวัตกรรมของพรรคที่จะนำประเทศไทยไปสู่ผู้นำในเวทีโลกในเรื่องของการแก้ไขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี รักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย และประเทศกำลังพัฒนา

ชาติไทยพัฒนา ปั้นไทยศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เข้าประเทศ

ประโยชน์ที่จะได้เป็นรูปธรรม คือ รายได้ของเกษตรและประชาชน อาทิ ชาวนาที่จะขายคาร์บอนเครดิตได้ 500-1,000 บาทต่อไร่ต่อปี ชาวสวนจะได้ 1,000-2,000 บาทต่อไร่ต่อปี เป็นต้น รวมถึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างการลดการเกิดไฟป่า ลดฝุ่นละอองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ จะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 7,000 - 10,000 ล้านบาทแต่จะได้ผลตอบแทนสูงถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี