“ทวี” ซัด “ศักดิ์สยาม” ปมต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2-รุกที่ดินเขากระโดง

17 ก.พ. 2566 | 05:47 น.

“ทวี สอดส่อง” จวก “ศักดิ์สยาม” ปมต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เอื้อเอกชน หลังเจ้าของสัมปทานขู่รัฐจ่ายหนี้ แตะ 1.37 แสนล้านบาท ฟากปมรุกที่ดินเขากระโดง ยันเป็นของการรถไฟ เผยงบการเงินปี 64 ผิดปกติ ส่อทุจริต

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการอภิปรายที่รัฐสภาในกรณี ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจ้งถึงคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2A โดยให้ขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน ให้กับ บริษัท ทางด่วน และ รถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด หรือ BEM เมื่อ 8 ก.พ. 63 ถือเป็นเหตุผลฟังไม่ขึ้น    

“การต่อสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2ฯ ให้บริษัทฯ ตามมติ ครม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา อย่างกุลีกุจอ ทั้งที่เอกชนรายนี้ยังไม่ทันได้ฟ้องเลยด้วยซ้ำ”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวต่อว่า มูลหนี้จริงที่ผ่านกระบวนการศาลมีแค่ 4,318  ล้านบาท แต่โดนเอกชนเจ้าของสัมปทานทางด่วนขู่ด้วยยอดเงิน 137,517 ล้านบาท ที่ยังไม่ผ่านทั้งขบวนการอนุญาโตฯ ศาลปกครองกลาง หรือ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทั้งหมด ใช้เวลาหลายปี แต่อายุสัญญาที่หมดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีชุดนี้ รวมถึงเจ้ากระทรวง เป็นพวกตกใจง่าย เลยอนุมัติต่อสัมปทานไป 15 ปี 8 เดือน

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมอบผลประโยชน์ให้กับเอกชนรายนี้ เป็นวงเงินสุทธิปัจจุบัน (NPV) ประมาณ 33,355 ล้านบาทตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระ เพื่อแลกกับหนี้ 4,318  ล้านบาท ซึ่งไม่รวมถึงกระแสเงินสดที่ เอกชนรายนี้ได้รับจากการต่อสัมปทานโดยเฉพาะส่วนของทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ ถึงปีละกว่า 6,000 ล้านบาท รวม 15 ปี 8 เดือน เป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท
 

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีดินเขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับว่าไม่มีในสารบบสินทรัพย์ของการรถไฟ โดยอ้างว่าเป็นมาตรฐานทางบัญชี นั้นมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงและหลักฐาน 

นอกจากนี้ยังพบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือกรณีมีการออกเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินทับที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นกรณีเดียวกันกับที่ดินรถไฟเขากระโดง คือ ที่ดินรถไฟที่บริเวณบ้านโพธิ์มูล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีการออกโฉนด เนื้อที่ 245 ไร่ โดยทราบว่าที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับที่ดินเขากระโดงและคดียังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็สามารถขึ้นบัญชีในสารบบได้

“ในทางกลับกัน ที่ดินเขากระโดง (ทรัพย์สินของแผ่นดิน) นี้ ซึ่งปรากฏหลักฐานชัด ทั้งมีการพิสูจน์กันที่ศาลยุติธรรม จนถึงศาลฎีกา และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่เหตุใดมาบอกว่าไม่แน่ใจว่าที่ดินเขากระโดง เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยและยังต้องมีการพิสูจน์อะไรอีก”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวต่อว่า ที่ดินรถไฟ 5 พันกว่าไร่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินจะเปลี่ยนมือได้ต้องกระทำโดย พ.ร.บ. เท่านั้น ตามมาตรา 6 (2) พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้น ๆ ได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว

“ส่วนข้ออ้างอื่นๆ แม้จะอ้างของผู้ว่าการรถไฟฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ใช่เหตุผลตามกฎหมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ขณะที่การรถไฟทำงบดุลบัญชีเมื่อปี 2564 ที่มีความเห็นงบการเงินการรถไฟแห่งประเทศไทย แบบมีเงื่อนไข คืองบการเงินไม่ถูกต้อง ในเรื่องที่ดินและทรัพย์สิน ไม่ระบุถึงที่ดินของตน 5 พันไร่เศษนั้น ว่าเป็นของการรถไฟ ทั้งๆที่ศาลมีคำพิพากษาต้องกันมาตลอดตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมาแล้ว 6 ปีว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของการรถไฟ แสดงถึงความไม่สุจริต”