"อาคม" แจงหนี้สาธารณะเพิ่ม เหตุเยียวยาประชาชนช่วงโควิด

16 ก.พ. 2566 | 12:00 น.

"อาคม" แจงหนี้สาธารณะเพิ่ม เหตุใช้เยียวยาประชาชนช่วงโควิด พร้อมโต้ฝ่ายค้านอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ต่ำที่สุดในอาเซียน

16 กุมภาพันธ์ 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

นายอาคม รมว.คลัง ระบุว่า ในช่วงโควิด-19 มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินงบประมาณ แต่ไม่สามารถดึงจากงบประมาณปกติได้ ส่วนการแบ่งเงินที่นำมาใช้มีเพียงแหล่งเดียว คือ การกู้เงินซึ่งได้ออก พ.ร.ก.มาแก้ไขเป็นเงิน 1.5 ล้านล้านบาททำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากกว่าภาวะปกติเพราะต้องเร่งนำมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชน

นอกจากนี้ยังมี พ.ร.ก.ที่เกี่ยวกับซอฟต์โลนไปช่วยเรื่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกับประชาชน ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ในช่วงโควิด-19 จำเป็นต้องพยุงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพราะเป็นบทบาทหน้าที่ในภาวะที่ไม่ปกติซึ่งนโยบายการคลังและการเงินจะต้องประสานกัน

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมานโยบายการเงินผ่อนคลายให้บทบาทภาครัฐใช้งบประมาณแผ่นดินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายก่อนนโยบายบายก็ต้องเข้าสู่สภาวะปกติ

อย่างไรก็ดี กรณีช่วงไตรมาส 3-4 ของปีที่แล้วจะเริ่มเห็นนโยบายการใช้เงินมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถูกกล่าวหาว่า เติบโตช้าที่สุดในอาเซียน นายอาคม รมว.คลัง ยืนยันว่า ไม่ได้ต่ำกว่าทุกประเทศ สิงคโปร์ยังต่ำกว่าประเทศไทย มองว่า ปัญหาเงินเฟ้อ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมาจากปัจจัยการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน

ทั้งนี้ นโยบายการเงินก็เริ่มทำงาน ต้องดูเสถียรภาพของค่าเงิน การใช้อัตราดอกเบี้ยในการเป็นเครื่องมือ อย่างที่เรียนว่า ปีที่แล้วเกือบทุกประเทศประสบปัญหาเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี เรื่องการช่วยเหลือของนโยบายการเงินดูแล คงจะต้องดูแลปัจจัยอื่นไปด้วย เช่น การใช้จ่าย ในช่วงดอกเบี้ยมีอัตราขึ้นจะต้องดูว่าเป็นภาระกับใครบ้าง

แน่นอนว่ากระทบภาคธุรกิจและรัฐบาล ย้ำว่าหนี้สาธารณะครึ่งหนึ่ง เป็นหนี้สาธารณะที่สะสมมาตั้งแต่โบราณแล้ว จึงอยากชี้แจงว่า การก่อหนี้สาธารณะ 70% เป็นไปเพราะเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค มีบางส่วนต้องไปชำระหนี้เมื่อปี 2540