“อุตตม” ย้ำเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มที่ฐานราก

09 ก.พ. 2566 | 13:05 น.

“อุตตม” ย้ำเศรษฐกิจไทยต้องเริ่มที่ฐานราก ไม่ใช่พูดถึงอุตสาหกรรมก่อน พิสูจน์แล้วหากเศรษฐกิจฐานรากไม่เข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศก็อ่อนแอ

นายอุตตม สาวนายน ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จะเดินหน้าบริหารประเทศสร้างความยั่งยืน ใช้นโยบายประชารัฐไม่ใช่ประชานิยม ร่วมทำงานกับภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความยั่งยืนและแก้ปัญหาความยากจน ปัจจุบันแนวโน้มสำคัญ คือ ภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ความตึงเครียดที่มี วันนี้เป็นยุคของ Insecurity คือ ความไม่แน่นอน ทำให้เกิดความกังวลในหลายประเทศ ทั้งประเทศมหาอำนาจ และประเทศเล็กเช่นไทยการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ อีกเรื่องคือ ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กระทบเศรษฐกิจสังคม เหล่านี้คือ เทรนด์สำคัญ Climate Change ที่มาทั้งความเสี่ยง และโอกาส ภาพอย่างนี้บริหารจัดการอย่างไร พปชร.เรามีแนวทางบริหารจัดการ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ อยู่กับความเป็นจริง

นายอุตตม สาวนายน ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ

เรื่องแรก ปัญหาเฉพาะหน้า แผลเป็นจากโควิด-19 ใครบอกโควิด-19 หมด ตนถามผู้ประกอบการ SME บอกว่า ยังเป็นแผลอยู่ เรื่องหนี้สิน จะแก้อย่างไร ต้องแก้ทั้งระบบ หนี้ในระบบ หนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือน 90% ยังมีหนี้ธุรกิจ แนวทางของพรรคคือ การรวม และแก้หนี้ทั้งหมดอย่างเป็นระบบ แก้แล้วต้องเติมทุนใหม่ให้เขาลุกมาได้ เพิ่มทักษะทำมาหากินได้ใหม่

เรื่องสอง เร่งรัดการพัฒนาในมิติต่างๆ ที่จำเป็น เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจต้องเริ่มจากฐานราก ไม่ใช่พูดถึงอุตสาหกรรมก่อน พิสูจน์แล้วว่า หากเศรษฐกิจฐานรากไม่เข้มแข็ง พึ่งเศรษฐกิจภายในไม่ได้ เรื่องของเกษตร การท่องเที่ยว การผลิตของชุมชน ต้องผสมผสาน และยึดโยงอย่างครบวงจร ทำให้เกิดโอกาส เกิดงานใหม่ ชุมชนเข้มแข็ง ถึงจะมาพูดเรื่องเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ 

ต้องบอกว่าวันนี้เครื่องยนต์ที่มีอ่อนแรง บางเครื่องล้าสมัยแล้ว ส่งออกส่งได้ ถามว่าถ้าส่งแบบนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ทุกคนขยับตัวด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยทักษะใหม่ๆ ต้องการเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่

เรื่องสาม การปฏิรูปรัฐราชการ ไม่ให้เป็นคอขวด บอกก่อนว่าระบบราชการไม่ผิด แต่ถึงเวลาต้องปรับ เพราะมีข้าราชการเก่งๆ หลายคนอยากทำงานมากกว่านี้แต่ระบบไม่เอื้อ กฎระเบียบ ร่างพระราชบัญญัติต่างๆ มีกว่า 1,400 ฉบับ ต้องล้างเอาเท่าที่จำเป็น เรื่องสำคัญมากๆ คือ การพัฒนาคน และต้นทุนมนุษย์ ทั้งหมดที่พูดเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่เอาเรื่องทุนมนุษย์ให้จริงจัง การศึกษาต้องครบทุกวัย และต้องถือเป็นรัฐสวัสดิการที่เข้าถึงถ้วนหน้าและมีคุณภาพ ถึงจะเดินหน้าได้

“ทั้งหมด พปชร.มีแนวทางหลักคือ แนวความคิดประชารัฐ ไม่ใช่ประชานิยมคือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน และประชาชน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน สร้างการพัฒนาที่คุ้มค่า มั่งคั่ง ยั่งยืน แก้ปัญหาพื้นฐานความเหลื่อมล้ำ ยากจน ด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมในทุกมิติที่ยึดโยงกัน แนวทางนี้เคยทำมาแล้ว เคยสัมผัสมาแล้ว การทำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทุกภาคส่วน เป็นต้น”

ส่วนประเด็นจะผลักดันให้เกิด Green Eco อย่างไร เพื่อสู้ในตลาดโลกนั้น ทุกวันนี้ ได้ยินกันบ่อยมาก BCG เรื่องนี้ ประเทศไทยเองได้มีพันธะผูกพันเรื่องนี้ในระดับโลก แต่เรื่องสำคัญสุดคือ ทำอย่างไรให้เกิดจริง เพราะสำคัญที่สุดคือ ประโยชน์ที่จะได้กับคนไทย  การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะ BCG เศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานสิ่งนี้ เป็นเศรษฐกิจเริ่มจากฐานรากแท้จริง สามารถต่อยอดเชื่อมโยงในแทบจะทุกภาคส่วนของสังคม ของระบบเศรษฐกิจ วันนี้ถึงเวลาที่เศรษฐกิจไทยอ่อนล้า BCG เป็นแนวทางสำคัญ แต่ต้องทำให้ครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และทุกอุตสาหกรรม บริการ รวมถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม Carbon Credit มาถูกทาง แต่ต้องเป็นพันธสัญญา คนไทยทั้งประเทศ และรัฐบาลที่จะเข้ามาต้องจริงจังกับเรื่องนี้

 ส่วน การปรับปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศ เรียนว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง การใช้งบประมาณขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย และมียุทธศาสตร์ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่กระจายอำนาจ แต่งบประมาณไม่ไป

“หลักการพื้นฐาน วันนี้ต้องปฏิรูประบบงบประมาณ ใช้งบประมาณที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้จังหวะนี้ ใช้งบประมาณขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนประเทศ วันนี้อยู่ในจุดพลิกผันจริงๆ ส่วนงบประมาณตรงไหนใช้เท่าไร เป็นเรื่องต้องมาพิจารณากัน งบประมาณลงทุนในกองทัพ ถ้ามากไป มันควรจะไปลงตรงไหนอย่างไร วิธีการอย่างไร ปฏิรูประบบราชการอย่างครบวงจร อีกเรื่อง ทำอย่างไรให้งบประมาณโปร่งใสมากขึ้น ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการจัดสรรงบประมาณ ทำให้เข้าใจง่ายกว่านี้”