วัชระ ร้อง นายกฯ ทบทวนยกเลิกปิดสถานีหัวลำโพง

18 ม.ค. 2566 | 08:05 น.

วัชระ ร้อง นายกฯ ยกเลิกปิดสถานีหัวลำโพง-ยกเลิกให้เอกชนใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ ย้ำ ต้องอนุรักษ์ไว้ให้ประชาชนได้ประโยชน์ตามพระราชปณิธาน ร.5

18 มกราคม 2566 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สนง.ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถึง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้พิจารณายกเลิกการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง (ครั้งที่ 2) และให้คงสถานีหัวลำโพงไว้ตามพระราชปณิธานของพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ 5) 

ทั้งนี้ นายวัชระ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลผ่านเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ขอให้พิจารณายกเลิกการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง ยกเลิกการให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และยกเลิกการหยุดให้บริการรับส่งผู้โดยสารรถไฟที่สถานีบางเขน-หลักสี่-ดอนเมือง ฯลฯ เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริการประชาชนตามพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 นั้น

ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 รฟท. จะทำการย้ายขบวนรถไฟทางไกลจากสถานีกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพงมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แต่จากการแถลงข่าวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ระบุว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังขาดความพร้อมในด้านการปฏิบัติการและให้บริการหลายเรื่อง เช่น จำนวนรถโดยสารไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียน รถขนส่งสาธารณะต่าง ๆ และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น 

ดังนั้น นายชัยฤทธิ์ ลีลาเกรียงศักดิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสบำนาญ นายประชา ประสงค์จรรยา ผู้พิพากษาอาวุโสบำนาญ และตนขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง (ครั้งที่ 2) เพื่อบรรเทาปัญหาการเดินทางของประชาชนที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ขอให้สั่งการกระทรวงคมนาคมซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและกำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุดด้วย 

รัฐบาลต้องอนุรักษ์และรักษาสถานีกรุงเทพฯ หรือหัวลำโพงไว้ให้เป็นไปตามพระราชปณิธานของพระปิยมหาราช ที่ทรงริเริ่มและวางรากฐานการรถไฟไว้เป็นการคมนาคมสำหรับประชาชนคนยากจนทั้งประเทศและเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกให้คงอยู่คู่แผ่นดินประเทศไทยไปตลอดกาล จึงขอให้ยกเลิกแนวคิดของกระทรวงคมนาคมที่จะนำสถานีหัวลำโพงไปเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ของนายทุนหรือยุติการใช้งานโดยเด็ดขาด