“จุรินทร์”ยันส.ส.ลาออก นายกฯไม่จำเป็นต้องยุบสภาตามเสมอไป

18 ธ.ค. 2565 | 09:18 น.

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ชี้ ส.ส.ลาออก ไม่จำเป็นต้อง “ยุบสภา” ตามเสมอไป ย้ำคนจะเป็นนายกฯ นอกจากมี 375 เสียงของสองสภารวมกันแล้ว ยังต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนด้วย รัฐบาลจึงจะไปรอด

 

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่จ.เชียงใหม่ ภายหลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเมืองต่อการที่มี ส.ส.ทยอยลาออกเป็นจำนวนมาก จะเป็นแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรียุบสภาหรือไม่ว่า การยุบสภาจากที่ติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความเหมาะสมแต่ละสถานการณ์มากกว่า 

 

เพราะการที่มีผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งลาออก ก็ยังไม่เคยปรากฏชัดว่าจะมีผลในการกดดันให้เกิดการยุบสภา แม้บางยุคก็เคยมีการลาออกเหมือนกัน อย่างเช่น ในช่วงรัฐบาลชวน 2 ตอนนั้น ตนเป็นประธานวิปรัฐบาล มี ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งก็ลาออก แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ทำหน้าที่ทั้งในการบริหารราชการแผ่นดิน และในสภาต่อไปได้ 

 


จนกระทั่งเรียกว่าเกือบจะครบเทอม เหลือเพียงสัปดาห์นิดๆ ก็มีการยุบสภา ซึ่งก็ไม่ได้ยุบเพราะเหตุนี้ แต่ยุบเพราะท่านชวน ได้สัญญาว่าจะไม่อยู่ครบเทอม เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าจะมี ส.ส.กดดัน ด้วยการลาออกเพื่อให้เกิดการยุบสภา จะต้องมีการยุบสภาเสมอไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเหมาะสมของแต่ละกรณีมากกว่า 

 

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ประเมินเสียง ส.ส.ในสภา ยังมีเสียงข้างมาก สามารถทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปได้นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลก็ยังมีเสียงมากกว่า

 

ส่วนการที่มีบางพรรคการเมืองพูดถึงสูตรการจัดตั้งรัฐบาล ว่าจะมีการรวบรวมเสียง ส.ส. กับ ส.ว. ให้ได้เกิน 375 เสียง เพื่อผลักดัน พล.อ.ประวิตร นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้ตอบไปชัดแล้วว่า ต้องให้ประชาชนให้คำตอบก่อน ต้องมีผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าประชาชนให้การสนับสนุนพรรคการเมืองไหนเป็นจำนวนเท่าไหร่ และพรรคการเมืองต่างๆ รวมกันแล้วใครได้เสียงข้างมาก จึงจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล 

 


กรณีที่จะเป็นการรวมเสียงทั้ง ส.ส. และ ส.ว. นั้น ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ หากมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกัน สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามความเป็นจริงนั้น อย่างน้อยที่สุด คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องได้เสียงจาก ส.ส.ในสภา เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การบริหารราชการแผ่นดินก็จะไปต่อไม่ได้
 ดังนั้น

 

จึงไม่ได้อยู่ที่เงื่อนไขเดียวว่าได้เสียง ส.ส. ส.ว. เกินครึ่งหรือไม่ แต่จะต้องมีเสียงในสภาผู้แทนฯ เกินครึ่งด้วย ไม่อย่างนั้นก็บริหารไม่ได้ เป็นนายกฯ ได้อย่างเดียว แล้วรัฐบาลก็ไปต่อไม่ได้ 


ส่วนที่ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีสัญญาณภายในอะไรหรือไม่ ว่าจะมี ส.ส. ของพรรคย้ายออกไปอีกหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณอะไร มีแต่มาเล่าให้ฟังเหมือนที่เคยตอบไปแล้วว่า จะมีคนนั้นคนนี้จะมาดูด แต่ตอนนี้ ส.ส. ทั้งหมดก็ยังมั่นคง แน่นเหนียวอยู่กับพรรค