ป.ป.ช.ฟัน“ผู้กำกับโจ้”ร่ำรวยผิดปกติ 1,358 ล้านบาท

14 พ.ย. 2565 | 08:15 น.

ป.ป.ช.มีมติชี้มูล พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล “ผู้กำกับโจ้” ร่ำรวยผิดปกติ 1,358 ล้านบาท ส่งฟ้องศาลขอสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน อสส.ยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตแล้ว 

วันนี้ (14 พ.ย.65)  นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด  พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "ผู้กำกับโจ้" ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 1,358 ล้านบาท ส่งอัยการสูงสุด(อสส.) ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อขอให้ศาลสั่งยึดทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน    


คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติรับเรื่องไว้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น กรณีปรากฏข้อเท็จจริงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าว พ.ต.อ.ธิติสรรค์  ตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ กับพวก รวม 7 คน จับกุม นายจิระพงษ์  ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาในคดีค้ายาเสพติด มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี และกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย 

และปรากฏข้อเท็จจริงจากข่าวดังกล่าวอีกด้วยว่า พ.ต.อ.ธิติสรรค์ มีบ้านหลังใหญ่พร้อมสระว่ายน้ำในเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ บริเวณหมู่บ้านปัญญารามอินทรา และครอบครองรถยนต์จำนวนมาก เป็นรถหรูจำนวนหลายคัน มีมูลค่ารวมกันประมาณ 100 ล้านบาท

                                    
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบเบื้องต้นของพนักงานไต่สวนเจ้าของสำนวน และมีมติรับเรื่องกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51 


จากการไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า รายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ เงินฝากธนาคาร ที่ดินพร้อมบ้านพักอาศัย รถยนต์ และเงินที่ใช้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์หลายคัน ได้มาโดยไม่สัมพันธ์กับรายได้ และเกินกว่าฐานะและรายได้ที่ได้รับจากราชการจะพึงมี 


จึงเป็นกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ร่ำรวยผิดปกติ ตามนัยมาตรา 4  แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือ ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวม 32 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,358,121,750.80 บาท ได้แก่ 


1. บัญชีเงินฝากธนาคาร A ประเภทสะสมทรัพย์ ชื่อบัญชีนายธิติสรรค์  อุทธนผล รวมเป็นเงิน 1,197,694,152.48 บาท   


2. บัญชีเงินฝากธนาคาร A ประเภทสะสมทรัพย์ ชื่อบัญชีนายธิติสรรค์  อุทธนผล รวมเป็นเงิน 11,542,450 บาท  


3. บัญชีเงินฝากธนาคาร B ชื่อบัญชี นายธิติสรรค์ อุทธนผล รวมเป็นเงิน 34,577,170 บาท    


4. ที่ดิน จำนวน 4 แปลง และบ้านพักอาศัย จำนวน 2 หลัง ตำบลบางชัน อำเภอคลองสามวา กรุงเทพมหานคร รวมมูลค่า 54,150,000 บาท  

 
5. รถยนต์ จำนวน 15 คัน ได้แก่ยี่ห้อ PORSCHE AUDI BENZ VOLKSWAGEN FORD มูลค่ารวม 6,190,000 บาท  


6. เงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ จำนวน 13 คัน ได้แก่ยี่ห้อ LAMBORGHINI BMW PORSCHE FORD BENTLEY FERRARI มูลค่ารวม 53,967,978.32 บาท 


คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,358,121,750.80 บาท

                        “ผู้กำกับโจ้”ร่ำรวยผิดปกติ  1,358 ล้านบาท
 ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน  


และเมื่อวันที่ 11 พ.ย. อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต  ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเรียบร้อยแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122    


ทั้งนี้ หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ  ตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ ภายในระยะเวลา 10 ปี  ตามนัยมาตรา 125 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม   การทุจริต พ.ศ. 2561  


ส่วนกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์  ขอเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัล จากกรมศุลกากร กรณีจับกุมรถยนต์ลักลอบนำเข้าราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย เป็นกรณีความปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาขณะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีพฤติการณ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 และมาตรา 49 ซึ่งวิธีการทำงานขอตรวจสอบในข้อเท็จจริงก่อน 


ตอนนี้ต้องดูว่าทำไมจึงมีการจับกุม และต่อยอดต่อไปว่าเป็นการดำเนินคดีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นการวางแผนร่วมกันเป็นขบวนการนำเข้ารถหรูแล้วจับกุมเพื่อหวังสินบนนำจับ ซึ่งป.ป.ช.จะต้องมีการคลี่รายละเอียด เพราะว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยจะต้องย้อนกลับไปดูเอกสารของศุลกากรว่าเอกสารมีอะไรบ้าง 


"วันนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือเอกสารหลักฐาน มีอะไรบ้าง วันที่มีการจับกุมนั้นใครเป็นคนจับกุมแล้วนำส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรคนใด จากนั้นใครเป็นคนประเมินหลักฐาน นำไปขายใครอย่างไร ซึ่งวันนี้ตำรวจได้ประสานทางการมาเลเซีย เพื่อติดต่อขอข้อมูลรถหาย แต่ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเนื่องมีรถจำนวนถึง 400 คัน และการหาเอกสารเกี่ยวข้องนานเกิน5ปี ก็จะต้องไปค้นหาในโกดัง 


แต่หากเป็นการร้องเรียนเหตุเพิ่งเกิดขึ้น ป.ป.ช.จะไช้เวลาทำคดีไม่เกิน 1-2 ปี ส่งฟ้องได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับใดบ้างที่เกี่ยวข้องกระทำผิด เบื้องต้นตั้งสำนวนว่ามีผู้กระทำผิด 1 คน