นักกฎหมาย ฟันธง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านด่านอรหันต์ยาก

07 พ.ย. 2565 | 10:30 น.

นักกฎหมาย ฟันธง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านด่านอรหันต์ยาก หลังเจอด่านเหล็กสำคัญที่ซ่อนเงื่อนไขเอาไว้ ทั้งการทำประชามติจากประชาชน และฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา

นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 323 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ออกเสียง 7 เสียง กรณีขอให้สภาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

โดยเห็นว่า อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับใหม่ เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะต้องฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศก่อนว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ซึ่งจะต้องจัดทำประชามติ เพื่อฟังเสียงประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ 

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

อย่างไรก็ตามเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กำหนดเงื่อนไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยู่ 2 เงื่อนไข คือ ก่อนจัดทำและภายหลังจัดทำ โดยจะต้องให้ กกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคหนึ่ง(1) (2) ข้อดี เป็นการรับฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่จะชอบด้วยหรือไม่เห็นชอบด้วย ข้อเสีย ต้องเสีย งบประมาณในการจัดทำประชามติจำนวนมากถึงสองครั้ง ก่อนที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

 

ส่วนโอกาสที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีตัวแปรและเงื่อนไขอย่างไร โอกาสจะผ่านหรือไม่นั้น ยอมรับว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคท้าย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด ย่อมมีผลผูกพัน รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติที่สำคัญของรัฐธรรมนูญเนื่องจากสภาพสังคมและบริบททางการเมืองของประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา 

 

โดยการใช้รัฐธรรมนูญอาจไม่สอดรับกับสภาพสังคมการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศจึงมีบทบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้เพื่อให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย โดยกำหนดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในหมวด 15 ตามมาตรา 255 และ 256

 

นายณัฐวุฒิ ระบุว่า ตัวแปรที่สำคัญอยู่ที่วาระสาม ลงมติเงื่อนไขที่สำคัญต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา 

“ตามที่รัฐสภามีมติเอกฉันท์ 323 เสียง เป็นเพียงขั้นตอนแรกในชั้นก่อนจะจัดทำประชามติเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งเรื่องให้วุฒิสภาเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากเห็นชอบ จะต้องส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป คือ ช่องทางมาตรา 256 วรรคหนึ่ง แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบถือว่าเรื่องนี้ย่อมตกไป”  

 

นายณัฐวุฒิ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นมีด่านเหล็กสำคัญที่ซ่อนเงื่อนไขเอาไว้ แก้ไขยากมาก ตัวแปร คือ จะต้องจัดทำประชามติรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก่อนและหลังว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ และมีตัวแปรด่านหิน คือ ต้องใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 84 เสียง มีมติเห็นชอบในวาระสาม เทียบเคียงกับการปิดสวิตซ์ สว.ตามมาตรา 272 ยังไม่ผ่านด่านอรหันต์วุฒิสภา จะมาคิดการใหญ่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงมีโอกาสน้อย