ผ่า 3 ทางเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” หลังจบเอเปค

29 ต.ค. 2565 | 03:30 น.

ผ่า 3 ทางเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” หลังจบเอเปค “ไปต่อกับพลังประชารัฐ – ไปต่อกับพรรคการเมืองใหม่-ปิดฉากอนาคตการเมือง” : รายงานการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3830

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกราว 3 สัปดาห์ จะถึงการเปิดประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค - APEC 2022) ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 

 

หากการประชุมเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพผ่านพ้นไป ก็ถือเป็นการจบภารกิจใหญ่ของ “รัฐบาลลุงตู่” 

ต่อไปก็มารอลุ้นกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินหน้าอย่างไรทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ “ปรับ ครม.” ที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมเสนอชื่อ นริศ ขำนุรักษ์ ให้ได้เป็น รมช.มหาดไทย แทน นิพนธ์ บุญญามณี  หรือจะมีการปรับครม.ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ อีกหรือไม่ 

 

อีกเรื่องที่น่าติดตามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีการ “ยุบสภา” ก่อนครบเทอมรัฐบาล 23 มี.ค.2566 หรือไม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จะวางอนาคตทางการเมืองของตนเองต่อไปอย่างไร  

ท่ามกลางการเมืองเดินหน้าเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” เต็มตัว แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่ตัดสินใจทางการเมือง ว่าจะไปต่อในแนวทางใด แต่ทีมที่ปรึกษาทางการเมือง ก็ได้ประเมินทางเลือกเตรียมไว้สำหรับการตัดสินใจภายหลังการประชุมเอเปค จบสิ้นลง


โดยทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่ 3 แนวทาง ประกอบด้วย


1.ไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่ต้องเคลียร์ใจกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นขึ้นมา


2.ไปต่อกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนตัวเอง โดยเฉพาะกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถไว้วางใจระบบบริหารจัดการพรรค รทสช.ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาแทรกซ้อน


3.เลือกที่จะ “ไม่ไปต่อ” ปิดฉากอนาคตทางการเมืองตัวเอง หากเลือกทางดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่จะเลือกอยู่จนครบเทอมรัฐบาล ในวันที่ 23 มี.ค. 2566


โดยทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว คาดว่าการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีขึ้นหลังการประชุมเอเปคเสร็จสิ้นลง 


อย่างไรก็ตาม มีโอกาสสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือก “ไปต่อ”  เมื่อประเมินจากองคาพยพที่คอยขับเคลื่อนอยู่ข้างกาย ตระเตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้หมดแล้ว เหลือเพียงเจ้าตัวตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น


นอกจากนี้ ยังมีการประเมินกันถึงช่วงเวลาที่จะนำไปสู่การ “ยุบสภา” แบ่งเป็น 2 ช่วงจังหวะ คือ


1.ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2565 - กลาง ม.ค.2566 เพราะต้องการดึงคะแนนนิยมหลังการประชุมเอเปคให้สูงขึ้น รวมทั้งออกมาตรการแจกของขวัญช่วงปีใหม่
2.ช่วงปลายเดือน ก.พ.2566 ก่อนจะครบเทอมสภาเพียง 1 เดือน เนื่องจากสมัยประชุมสภาฯ ที่จะเปิดในวันที่ 1 พ.ย. 2565 จะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ.2566 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถอธิบายได้ว่าขับเคลื่อนงานรัฐบาลมาจนเสร็จสิ้น ก่อนคืนอำนาจให้กับประชาชนเลือกตั้งใหม่

                       ผ่า 3 ทางเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” หลังจบเอเปค


ปัดตอบ“นายกฯคนละครึ่ง”


ส่วนกรณีที่ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเสนอแนวทาง “นายกฯคนละครึ่ง” เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งได้อีก 2 ปี หลังจากนั้นถึงจะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นแทน หรือ “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม” นั้น  ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า พลอ.ประยุทธ์ ได้ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเมือง 


ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลทางประตูด้านข้างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อหลบผู้สื่อข่าว เนื่องจากไม่ต้องการตอบคำถามด้านการเมือง จากเดิมที่เคยออกด้านบันไดหน้าตึกสันติไมตรี หรือบันไดด้านข้าง


เมื่อถามถึงกรณีที่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐเสนอสูตร  “นายกฯ คนละครึ่ง” กับ พล.อ.ประยุทธ์  เป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถามดังกล่าว


ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยเพียงสั้นๆ ถึงกรณีที่สมาชิกพรรคพปชร.เสนอสูตร “นายกฯ คนละครึ่ง” ว่า "การเมืองยังไม่ถึงเวลาหรอก"


 “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม”

 

ก่อนหน้านั้น นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เป็นคนออกมาเสนอแนวทางเรียกว่า “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม” โดยระบุว่า

 

“เรากำลังพัฒนาพรรคให้เป็นพรรคต่อเนื่อง ไม่ใช่ผูกติดกับ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเดียว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ 2 ปี 2 ปีหลัง เราก็ต้องมีตัวแทนขึ้นมาให้พรรคมีความต่อเนื่อง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ 2 ปี เราก็ต้องมีกลไกที่จะอธิบายได้ “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม”ก็ได้ ไม่ได้เป็นปัญหาในการรับช่วงทางการเมืองภายใต้การเลือกตั้งของประชาชนเพื่ออธิบายให้ประชาชนเห็นว่าเราพร้อมบริหารประเทศ 


ในระบบประชาธิปไตย 2 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นปัญหา แต่จะมีการวิเคราะห์ตีความกันว่าพรรคประชารัฐไปไม่ได้ แต่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งอาจเห็นว่า 2 ปีหลังจากนี้ บริหารให้ประเทศเดินหน้าหลังจากนั้นก็ผ่องถ่ายไปสู่คนอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไรของเรา เรื่องเหล่านี้ในพรรคจะเตรียมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจทำเป็นนโยบายต่อไป” นายรงค์ ระบุ

 


ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ขอให้ความเห็นถึงกรณีกระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐ ชูนโยบาย“หมดลุงตู่ สู่ลุงป้อม” เป็นแคมเปญในการหาเสียงครั้งต่อไป โดยกล่าวว่า ยังไม่ขอพูดถึง ส่วนความพร้อมในการจัดทำนโยบายนั้น ก็ยังไม่ได้พูดคุยหารือกันเรื่องจัดทำนโยบายต่างๆ ของพรรค ซึ่งอยากให้รอฟังความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง 


ส่วนคำว่า “หมดลุงตู่ สู่ลุงป้อม” ส่วนตัวมองว่า อาจเป็นเรื่องที่พูดกันเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีอะไร 


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ไม่ทราบกระแสข่าวในพรรคพลังประชารัฐ เตรียมกลไก  “หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งต้องมีการพูดคุยกัน และสอบถามไปยังกรรมการผู้บริหารพรรค เพราะยังไม่ได้มีการประชุมหรือพูดคุยกันในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องพิจารณากันอีกครั้ง 


แต่ยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นพรรคหลักของรัฐบาล และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ในการทำงานเพื่อให้เดินหน้าสร้างผลงานดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนตัวเชื่อว่าผลงานของรัฐบาล ก็จะเป็นตัวสำคัญที่นำไปสู่การเลือกตั้ง และประชาชนยอมรับ โดยความสำเร็จของการเลือกตั้ง ก็จะมาจากการทำงานของรัฐบาล


กั๊กจับมือพท.ตั้งรัฐบาล


นายชัยวุฒิ ยังกล่าวถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ยื่นเงื่อนไขการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลโดยยืนยันจะต้องไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องอย่างนี้ยังตอบไม่ได้ และคิดว่ายังเร็วไปที่จะพูดคุยในเรื่องของการจับมือร่วมรัฐบาลคงต้องรอเลือกตั้งก่อนแล้วดูเสียงส.ส. ในสภาฯ พร้อมกับดูบรรยากาศการเมืองและนโยบายของแต่ละพรรคด้วย 

 

“แต่โดยหลักการของพรรคพลังประชารัฐ เน้นการทำงานเพื่อประชาชนอยู่แล้ว จะทำตามนโยบายต่าง ๆ ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เรื่องอะไรที่สร้างปัญหาให้กับประชาชน และสร้างความแตกแยก เราจะไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ตรงนี้ถือเป็นนโยบายหลักของเรา ส่วนที่ว่าจะไปผูกพัน กับใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะคุยกันในตอนนี้”


ส่วนตามเงื่อนไขถือว่ารับได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ ตอบว่า คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะมารับหรือไม่รับ รอให้ถึงเวลาเลือกตั้งแล้วค่อยมาพูดคุยกันอีกทีจะดีกว่า แต่ถ้าเราเป็นพรรคใหญ่โอกาสที่จะมาจับมือร่วมรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก เพราะการเมืองต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล 


ส่วนที่นายกฯ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไป จะเป็นจุดอ่อนกับพรรคหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าไม่ชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ท่านเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอชื่อโดยพรรค พปชร. และวันนี้ยังเป็นอยู่ 

 

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีแคนดิเดตนายกฯ เป็นใครบ้าง ยังไม่ถึงเวลาที่จะสรุปในตอนนี้ เพราะยังดูอยู่ว่าจะเป็นอย่างไรบ้างในทางการเมือง เมื่อถึงเวลาสมัครแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็สมัครพร้อมส.ส.ซึ่งยังมีเวลาคิดว่าตอนนี้ก็เตรียมคนไปเรื่อย ๆ


“จากการที่พรรคพปชร.ทำโพลสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน หลายพื้นที่คะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรี และพรรค พปชร.ยังดีอยู่ ไม่ได้ตก เชื่อว่าแม้ส.ส.จะย้ายพรรคไป แต่คนยังเลือกพรรคพปชร.เหมือนเดิม” นายชัยวุฒิ ระบุ