สงครามครั้งสุดท้ายของ“ตระกูลชินวัตร”

15 ต.ค. 2565 | 04:53 น.

สงครามครั้งสุดท้ายของ“ตระกูลชินวัตร” : สงครามการเมืองของคนตระกูลชินวัตรในครั้งนี้ เดิมพันสูงยิ่งนัก โอกาสที่ทั้ง ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ จะได้กลับประเทศไทย ต้องชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์และจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเท่านั้น

นอกจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะส่ง ลูกสาวคนเล็ก อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาเล่นการเมืองเต็มตัว นำทัพ พรรคเพื่อไทย ด้วยตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แล้ว


ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2565 ที่ผ่านมา ทักษิณ ยังส่งลูกโทน โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ของพรรคเพื่อไทย อีกคน 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ศูนย์ดังกล่าวจะมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค เป็น ผอ.ศูนย์ นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนพรรคเป็นเลขาธิการศูนย์ฯ 


โดยตั้งเป้าหมายสู่ “แลนด์สไลด์” ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ที่เป็นเสาหลัก คือ 1.การส่งผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต 2.นโยบายพรรคที่จับต้องได้ ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ 3.แคนดิเดตนายกฯ ซึ่ง 3 เสาหลักจะเป็นการปูทางสู่เป้าหมาย “เพื่อไทยแลนด์สไลด์ เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน”

ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง  ประกอบด้วยสมาชิกศูนย์ 55 คน คณะทำงานชุดแรก เป็นที่ปรึกษา ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ส่วนรอง ผอ.ศูนย์ ได้แก่ นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ นายวิสุทธ์ ไชยณรุณ และ นายสุทิน คลังแสง


เปิดหน้าทั้งตระกูลชินฯ


ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้จัดกิจกรรม “สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ” โดยมีบุคคลสำคัญในครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพียง ทั้ง คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภรรยา โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย เอม-พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ บุตรสาว นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ บุตรเขย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว นายปิฎก สุขสวัสดิ์ บุตรเขย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นองสาวนายทักษิณ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ก็ได้ปรากกฏตัวร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย


สำหรับ คุณหญิงพจมาน ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย สมัยที่ ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกยึดอำนาจในปี 2549 หลังจากนั้นก็ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ อีกเลย 


ในวันนั้น อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยตอนหนึ่งว่า ดีใจที่ได้มาปราศรัยที่เชียงใหม่ เพราะเป็นบ้านเกิดของ นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตอนเด็กมาฟัง นายทักษิณ แต่ตอนนี้มาปราศรัยเองรู้สึกตื่นเต้นมาก การพัฒนาเชียงใหม่และภาคเหนือเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำมาตลอด เพราะต้องการให้ภาคเหนือมีความเจริญ


ปลุกแลนด์สไลด์


“วันนี้ พรรคเพื่อไทย พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง เราอยากให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ หรือยัง กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ขอให้กาเพื่อไทยทั้งหมด เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชน 8 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนลำบาก แต่ 4 ปีใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราจะทำให้ชีวิตประชาชนอยู่ดีกันดี เราจะทำตามสัญญาภายในเวลาไม่นาน เราจะทำได้ เราเคยทำสำเร็จมาแล้วและจะทำได้อีกแน่นอน”


อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ระบุด้วยว่า “วันนี้ ตื่นเต้นที่ได้มาปราศรัยที่นี่ และมีครอบครัวมาให้กำลังใจครบถ้วน โดยเฉพาะคุณหญิงคุณแม่ ขอบคุณกำลังใจที่ทุกคนมีให้” 


หลังกิจกรรม  อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ยังเล่าถึงเหตุที่ คุณหญิงพจมาน มาร่วมให้กำลังใจด้านหน้าเวทีครอบครัวเพื่อไทย ว่า “วันนี้คุณแม่มา ดีใจ ปกติจะให้ออกงานเป็นเรื่อง impossible...เพราะท่านไม่ชอบมาอยู่แล้ว แต่เมื่อมาจริงๆ ก็ดีใจมาก”


อย่างไรก็ตาม อุ๊งอิ๊ง บอกถึงบทบาทของคุณหญิงอ้อว่า “คุณแม่เป็นกำลังใจที่บ้าน ไม่มาการเมืองแน่นอน..และเป็นกำลังใจที่สำคัญมากๆ เป็นความมั่นคงทางจิตใจของอิ๊ง”

                               สงครามครั้งสุดท้ายของ“ตระกูลชินวัตร”


“เศรษฐา”แคนดิเดตนายกฯ


สำหรับ 1 ในยุทธศาสตร์ที่เป็นเสาหลักของพรรคเพื่อไทย ที่จะปูทางไปสู่เป้าหมายการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ คือ “แคนดิเดตนายกฯ” นั้น มีรายงานว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 พรรคเพื่อไทย (พท.)  1 ในแคนดิเดตนายกฯ คือ เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ส่วนอีกคนที่ปรากฏเป็นข่าวคือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย


อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวที่มีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน รวมถึง น.ส.แพทองธาร เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ว่า จริงๆ แล้วไม่ต้องระบุชื่อก็ได้ ขอคนพร้อมและมีความสามารถ การเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ามีคนที่อยากเข้ามาช่วย ต้องเปิดโอกาสให้เข้ามาอย่ารุมอะไรเลย เพราะประเทศต้องไปต่อแล้ว 


“จุดนี้ขอให้มองอนาคตประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ขอให้มีคนเก่งเข้ามาคือกำไรของประเทศ ตรงนั้นคือโฟกัส ขอให้รอลุ้น เพราะอยากให้ประเทศไปต่อ ไม่ว่าจะอย่างไร พรรคเพื่อไทยสนับสนุนเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ยังไม่ขอระบุชื่อ ขอแค่คนที่พร้อม” อุ๊งอิ๊ง ระบุ


การที่ ทักษิณ ชินวัตร ส่ง “ลูกสาว-ลูกชาย” เข้าสู่การเมืองเต็มตัว โดยมี คุณหญิงพจมาน ส่งแรงเชียร์อยู่เบื้องหลัง เป้าหมายใหญ่ก็คือ ทำอย่างไรช่วยให้ทั้ง ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีโอกาส “กลับบ้าน” 


แต่การจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ ขั้นแรก ต้องชนะเลือกตั้งถล่มทลาย และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพื่อ “กุมอำนาจรัฐ” ให้ได้เสียก่อน โอกาสดังกล่าวถึงจะเปิดขึ้น


โดยในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคเพื่อไทย เมื่อ 24 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ได้ปิดท้ายการปราศรัยบนเวที ด้วยประโยคที่ว่า “เป้าหมายต่อไปพรรคเพื่อไทยต้องแลนด์สไลด์ เราต้องได้อำนาจรัฐ” 


สงครามการเมืองของคน “ตระกูลชินวัตร” ในครั้งนี้ เดิมพันสูงยิ่งนัก โอกาสที่ทั้ง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” จะได้กลับประเทศไทย ต้องชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” และจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย” ได้สำเร็จเท่านั้น ประตูกลับบ้านถึงจะเปิด หากผิดจากนี้ก็หาหนทางอื่นยากเต็มที... 


+++


เส้นทางการเมือง“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

 

ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2537 ด้วยตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ ก่อนเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ในปีถัดมา และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ


ปี 2541 ทักษิณ ได้ตั้งพรรคไทยรักไทย แลชนะการเลือกตั้งต้นปี2544  ทักษิณ ได้เป็นนายกฯ สมัยแรก และอยู่จนครบวาระ 
ช่วงปี 2547 มีการชุมนุมต่อต้าน ทักษิณ เกิดขึ้น ต่อมาใน ก.พ. 2549 ทักษิณ ประกาศยุบสภา 


เม.ย.2549 มีการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้ง แต่เจอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ระหว่างนั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม โจมตี ทักษิณ ในประเด็นการทุจริต และละเมิดสถาบันกษัตริย์ 


จน 19 ก.ย. 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ระหว่างที่ทักษิณ ไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา
ทักษิณ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ราว 1 ปีครึ่ง ก่อนเดินกลับไทย เดือน ก.พ.2551 โดย ทักษิณ ตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตที่ดิน ย่านถนนรัชดาภิเษก และคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ. เอสซีแอสเซท 


แต่ก่อนจะมีการอ่านคำพิพากษา ทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ และไม่ได้กลับมายังประเทศไทยอีกเลย โดยไปพักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


ในปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย ส.ส.ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน ถัดมาปี 2551 พรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคส.ส.บางส่วนไปสังกัดในพรรคเพื่อไทย


ปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ ทักษิณ ได้เป็นนายกฯ แต่หลังจากมีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดสอย เพื่อหวังช่วยพี่ชายทักษิณ ให้พ้นจากคดีความทั้งบวง  ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส.


ปลายปี 2556 ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา และกำหนดเลือกตั้งใหม่ในเดือนก.พ.2557 แต่ถูกชุมนุมขัดขวางในหลายพื้นที่ การชุมนุมยืดเยื้อจนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ


ต่อมา ยิ่งลักษณ์ ตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ศาลนัดอ่านคำพิพากษา  25 ส.ค.2560 แต่ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษา ในเวลาต่อมาพบเดินทางไปอาศัยอยู่กับ ทักษิณ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์