ปชป.เปิดเวทีถอดบทเรียนเหตุการณ์“กราดยิงหนองบัวลำภู” ป้องกันเหตุซ้ำรอย

09 ต.ค. 2565 | 12:11 น.

ปชป. เปิดเวทีถอดบทเรียน เหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู “ผู้การแต้ม”ชี้ 80% ของผู้ก่ออาชญากรรมมาจากปัญหายาเสพติด เหตุโครงสร้างป้องกัน-ปราบปรามอ่อนแอ แนะตรวจสอบประวัติผู้ครอบครองปืน "มาดามเดียร์"วอน ภาคสังคมเป็น "Active Citizen" อย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว

คณะกรรมการยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  จัดเสวนาพิเศษเพื่อ "ถอดบทเรียน กราดยิงหนองบัวลำภู ร่วมหาทางออกด้วยกัน" เพื่อหามาตรการสกัดกั้นเหตุร้ายไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยในอนาคตได้ โดยมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข , นางสาววทันยา บุนนาค , นางสาวศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 


พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ  กล่าวว่า สภาพปัญหายาเสพติดของประเทศไทยในปัจจุบันมีผู้ติดยาและเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประมาณ 3,000,000 คน ซึ่งต้องใช้งบ ประมาณในการป้องกันและฟื้นฟูกว่า หนึ่งแสนล้านบาท หากนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศด้านอื่น ประเทศก็จะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ 

ทั้งนี้  80% จากทุกคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้น มาจากยาเสพติดทั้งสิ้น โดยปัจจุบันมีแนวโน้มว่าเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ  และกรุงเทพมหานครก็เป็นแหล่งจำหน่ายยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุด ส่วนพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งที่ใช้พักยาเสพติด  โดย วิธีการแก้ปัญหา คือ จะทำให้ยาเสพติดลดลงต้องทำให้ผู้ผลิตยาลดลง 


นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ส่วนตัวมองว่าอ่อนมาก ไม่มีความเอาจริงเอาจัง โดยความจริงแล้วปัญหายาเสพติดไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจอย่างเดียว เพราะตำรวจถือเป็นปลายทางในการที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ยาเสพติด 

ดังนั้น ปัญหาโครงสร้างในการป้องกันยาเสพติดจึงเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน  ทั้งนี้ปัญหาต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องกัญชาที่จะทำให้สังคมเสียหายมากขึ้น และองค์กรที่เกี่ยวข้องมักทำงานกันแบบผักชีโรยหน้า อีกทั้งกฎหมายยังไปเอื้อให้ผู้ติดยาเสพติดมากขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน ในวงเสวนายังกังวลถึงสถิติการครอบครองอาวุธปืนของประเทศไทย เป็นอันดับ 13 ของโลก และ กว่า 40% เป็นปืนเถื่อน ซึ่งต้องถอดบทเรียน จากกรณีนี้ให้ได้ว่า สาเหตุเกิดจากอะไรไม่ใช่จบไปเพียงเพราะผู้ก่อเหตุเสียชีวิต  


การจะลดปัญหาความรุนแรงได้ต้องยึดอาวุธปืนอย่างกรณีนี้ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วต้องยึดปืนคืน และต่อไปต้องมีการออกระเบียบว่าผู้ที่จะขออนุญาตมีอาวุธปืนต้องมีพฤติกรรมอย่างไร และมีการตรวจสอบประวัติก่อน เพื่อควบคุมอาวุธปืนเพราะหากควบคุมได้ ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

                      ปชป.เปิดเวทีถอดบทเรียนเหตุการณ์“กราดยิงหนองบัวลำภู” ป้องกันเหตุซ้ำรอย
ด้าน มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจอย่าสุดซึ้งต่อครอบครัวเหยื่อ และส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และคนไทยทุกคน ที่สะเทือนใจต่อเหตุการณ์ ตนขอพูดในฐานะตัวแทนประชาชน ในฐานะคุณแม่ ในภาคสังคมเป็นคำถามใหญ่ ที่ต้องตั้งคำถามร่วมกัน เพราะประเทศไทยไม่เคยเกิดเหตุการณ์เหยื่อที่เสียชีวิตเป็นเด็กเล็ก เยอะขนาดนี้ และวันนี้สังคมไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น สังคมไทยกำลังป่วยอยู่หรือไม่ 


ทั้งนี้ ทุกครั้งที่เกิดโศกนาฏกรรม เช่น เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ก็มีการถกปัญหา อยู่เป็นระยะ แต่ต้องถามว่า เราเริ่มทำกันจริงจังแล้วหรือไม่  มีการพูดถึงโครงสร้างปัญหาระบบราชการ ทหาร ตำรวจ จิตเวช การครอบครองอาวุธปืน แต่ปัญหากลับไม่ลดลง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น  

"ที่ผ่านมา มักจะพูดถึงการเพิ่มบทลงโทษ ความรุนแรงทางกฎหมาย  ซึ่งคนมองว่า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะอยู่ที่คนบังคับใช้กฎหมาย แต่อาจต้องกลับมาคิดใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และใกล้ตัวทุกขณะ เราจะตั้งรับกับปัญหาอย่างไร  ขอเชิญชวนภาคสังคมให้ Active Citizen ไม่เพิกเฉย หรือมองข้าม ละเลยคนในชุมชน โดยเริ่มได้ที่ตัวเรา เริ่มได้ที่ครอบครัวเรา  ซึ่งสามารถเริ่มได้เลย ไม่ต้องรอการปฏิรูปโครงสร้าง" 

 

ขณะเดียวกัน ยังขอเรียกร้องไปถึงสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวอาชญากรรม ที่นำพามาซึ่งเรตติ้ง  ตนเองเข้าใจในฐานะคนที่เคยทำสื่อมาก่อน แต่เรื่องนี้เป็นเหรียญสองด้าน  อยากให้มองว่าเรากำลังหล่อหลอมภาพความรุนแรง ให้กับสังคมหรือไม่ ตนขอรณรงค์ บริษัท ห้างร้าน ที่ใช้งบกับสื่อ CSR ขอให้ช่วยพิจารณาถึงคอนเทนท์ ช่วยลดทอน ปัญหาความรุนแรง ที่ กำลังเสพติดในสังคม 

 

ด้าน โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุ ว่าเรื่องดังกล่าวนี้เราไม่สามารถมองได้ว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องของจิตแพทย์ เรื่องของกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข หากเรามองเช่นนี้ก็จะไปติดเรื่องบุคลากรที่มีจำกัด หรือการตีตราเรื่องปัญหาสุขภาพจิต


ทั้งนี้เราทุกคนสามารถเป็นบุคลากรทางสุขภาพจิตได้ เพียงแค่เริ่มสนใจคนที่อยู่ข้างๆ รับฟัง ให้คุณค่าในเรื่องราวที่เขาทุกข์ใจ เพราะหลายครั้งที่ความรุนแรงขนาดใหญ่ลักษณะนี้ก็เกิดจากความรุนแรงในลักษณะเล็กๆ มาก่อน แต่ไม่เคยมีใครหยุดเขา หากเราไม่มีแอคชั่นความรุนแรงก็จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อถามว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่หากเราทุกคนยังทำเหมือนเดิม


ดังนั้น เราต้องอาศัยทั้งสังคมในการเปลี่ยนแปลง ต้องอาศัยคนที่ขยับ ความรุนแรงครั้งนี้สร้างความสูญเสียขึ้นแล้ว และจะเกิดความสูญเสียแท้จริง จากการที่เราไม่เรียนรู้อะไรเลย ความเครียดหรือโศกเศร้ากับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเราทุกคนมีหัวใจและมีความรู้สึก สิ่งที่เราต้องทำหากรับไม่ไหว ให้ออกจากสถานการณ์นั้น หยุดดู และเราจะต้องเรียนรู้ว่าหากเหตุการณ์นี้จะต้องรู้การเอาตัวรอดอย่างไร และสิ่งที่อันตรายมากที่สุดสำหรับการดูเรื่องความรุนแรง คือ การเคยชินกับความรุนแรง

 

สื่ออย่าเสนอเพียงแค่ภาพความรุนแรง แต่ควรเสนอองค์ความรู้ด้วย เพราะหากจะเสนอแต่ความรุนแรงสุดท้ายคนจะเฉยชากับความรุนแรง คนจะเคยชินกับความรุนแรงและจะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคม