"กระทรวงแรงงาน" ลดเงินสมทบ 3 เดือน ลดภาระนายจ้าง ผู้ประกันตน

01 ต.ค. 2565 | 11:14 น.

กระทรวงแรงงาน ลดเงินสมทบ เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตน จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่าครองชีพ มีผลบังคับใช้ งวดเดือนตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2565นี้

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยมีผลบังคับใช้ งวดเดือนตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อช่วยเหลือนายจ้างผู้ประกอบการ และผู้ประกันตน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับความเดือดร้อน จากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเนื่องมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่าครองชีพหลังจากสถานการณ์โควิด-19

ซึ่งในประกาศกฎกระทรวง ได้กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้ปรับลดอัตราเงินสมทบ โดยให้จัดเก็บเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 ของค่าจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบ จากเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 240 บาท โดยเริ่มตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 เป็นเวลา 3 เดือน

ในการลดอัตราเงินสมทบในครั้งนี้ ผู้ประกันตนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามการลดอัตราเงินสมทบไม่มีผลกระทบถึงการออมเงินสะสมเข้ากองทุนชราภาพแต่อย่างใด จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ที่พร้อมปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ นายจ้าง และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม