ส่อง 4 คดี “บิ๊กตู่” พ้นพงหนาม“ศาลรัฐธรรมนูญ”

30 ก.ย. 2565 | 06:20 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 13:27 น.

ย้อนหลัง 4 คดี “บิ๊กตู่” เมื่อไปถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้วศาลวินิจฉัยให้ “รอดหมด” ทั้ง“สถานะหัวหน้าคสช.และนายกฯ–ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ-พักบ้านหลวง-ใช้ ม.44 ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 40 ปี”

วันนี้(30 ก.ย.65) เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดี “8 ปี นายกฯ” ของ บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรับคำร้องไว้วินิจฉัย และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยมติ 5:4 

 

วันนี้จะได้รู้กันเสียทีว่า “บิ๊กตู่” รอด หรือ ไม่รอด 

 

หาก “รอด” ก็ได้ “ไปต่อ” ในตำแหน่งนายกฯ 

 

แต่หาก “ไม่รอด” ก็หมดสิทธิ์เป็นนายกฯ อีกตลอดชีพ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปลุ้นคำพิพากษาในช่วงบ่ายวันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปดูผลคดีของ “บิ๊กตู่” 4 คดี ที่เมื่อมีคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้ว ศาลได้วินิจฉัยให้รอดหมดทั้ง 4 คดี

 

เริ่มจาก  “คดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ” สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กำหนด โดยเลี่ยงคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 กำหนดว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”  


ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงยื่นต่อศาล เพราะเห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วน จึงเป็นการกระทำที่มิอาจใช้บังคับได้ และส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์  


 คดีนี้ เมื่อ 11 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมิติเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213  ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47(1) เนื่องจากเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด  

 

นอกจากนี้การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 

 

คดีที่สอง “คดีสถานะหัวหน้าคสช.-นายกฯ” ที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวม 7 พรรค เข้าชื่อต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานการณ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ 

 

เมื่อ 18 ก.ย.2562 ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ถือเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) เนื่องจากการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และมีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ดังนั้นความเป็นนายกฯจึงไม่สิ้นสุดลง
 

 

คดีที่สาม “คดีพักบ้านหลวง” ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง  


กรณีมีการกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว และถือเป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ 

 

คดีนี้ เมื่อ 2 ธ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ กรณีนี้ไม่ถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตัวเอง


คดีที่สี่ เมื่อช่วงปี 2563  บรรดา 72 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อีกครั้ง ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยสถานะความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 กรณีออกคำสั่งตาม มาตรา 44 เมื่อเดือน เม.ย. 2562 เพื่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับเอกชน ออกไปเป็นเวลา 40 ปี ทั้งที่ยังเหลือระยะเวลาสัมปทานอีก 10 ปี 

ขณะเดียวกันประกาศใช้กฎหมายร่วมทุนฯ ในเดือน มี.ค. 2562 แต่กลับไม่ได้ปฏิบัติตาม ส่อเกิดการผูกขาดโครงการ และไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม


คดีนี้ เมื่อ 30 มิ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “ไม่รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง

 

และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มีความมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ให้กระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีผู้ใดกระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นย่อมต้องสิ้นสุดลง


ดังนั้นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ 


เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 แต่ผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญไปแล้ว นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ได้


ทั้งหมดเป็น 4 คดี ที่ “บิ๊กตู่”ถูกร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยพ้นเก้าอี้นายกฯ ซึ่งก็ “รอด” มาได้ทุกคดี


มารอดูช่วงบ่าย 3 วันนี้ คดีที่ 5 “บิ๊กตู่” จะยังหนังเหนียว รอดพ้น ปม“8 ปี นายกฯ” ไปได้อีกหรือไม่


รอลุ้นด้วยใจระทึก!!!