วันนี้ (3 ก.ย.65) นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข่าวที่กำลังฮือฮาปรากฏในสื่อโซเซี่ยล สร้างความตื่นตระหนกให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ใช้บริการสนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต กรณีฝนที่ตกหนักในอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จนเกิดน้ำรั่วจากหลังคาจนท่วมภายในอาคารสนามบินนานาชาติ เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ว่า
ในฐานะที่จังกวัดภูเก็ตได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงขั้นใช้ภูเก็ตเป็นฐานท่องเที่ยวเปิดประเทศในรูปแบบ "ภูเก็ตแซนด์บ๊อก" ก่อนจะขยับให้เป็นจังหวัดนำร่องเปิดสถานบันเทิงจนถึงตีสี่ และกำลังดิ้นรนเพื่อให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เอ๊กซิบิชั่น เอ๊กซ์โป และกีฬาซีเกมส์ ซึ่งต้องใช้พื้นที่อาคารผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติภูเก็ตแห่งนี้ ทั้งขบวนกลองยาว หรือ ตั้งแถวรับนักธุรกิจด้านท่องเที่ยวต่างๆ
จึงขอถามกระทรวงคมนาคมในฐานะต้นสังกัดของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลสนามบินนานาขาติจังหวัดภูเก็ตว่า
1. ภาพที่ปรากฏในสื่อโซเชียล ทั้งน้ำฝนรั่วอย่างหนักจากหลังคาอาคารผู้โดยสารจนท่วมพื้นอาคาร และท่วมบริเวณรันเวย์ เป็นความจริงหรือไม่?
2. หากเป็นความจริง มีกระบวนการก่อสร้าง และตรวจรับงานก่อสร้าง ทั้งผู้ควบคุมงานก่อสร้าง กรรมการตรวจรับงาน ได้ตรวจสอบและคำนึงถึงความแข็งแกร่ง ความแข็งแรงในการป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักและน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด การที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตติดกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียถือเป็นเรื่องประหลาดที่เกิดน้ำท่วม
3. อาคารผู้โดยสารเพิ่งก่อสร้างเสร็จ ใช้งบก่อสร้างมากถึง 5,140 ล้านบาท เป็นไปได้อย่างไรที่จะรั่วและท่วมขัง จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ทั้ง ป.ป.ช. หรือ สตง. เข้าไปตรวจสอบความผิดปกตินี้ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพราะสนามบินแห่งนี้ คือหน้าตาของประเทศไทย การเกิดน้ำรั่วจนท่วมอาคารและท่วมรันเวย์ คือความน่าอับอายที่สุดของประเทศไทย
4. รัฐบาลจะต้องตรวจสอบว่า มีการอนุมัติออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเจ้าพนักงานของรัฐจนทับลำรางสาธารณะจนปิดกั้นทางน้ำหรือไม่
นายวัชระ ให้ข้อมูลอีกว่า สนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ตก่อสร้างและปรับปรุงทุกอาคารในสนามบิน โดย บมจ.ซิโนไทย เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน ตั้งแต่ปี 2554-2557 เหตุน้ำรั่วหลังคาอาคารสนามบินภูเก็ต เป็นกรณีที่คล้ายคลึงกับน้ำรั่วอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งโครงการก่อสร้างอุโมงค์หนองบอนถล่ม ที่ยังใช้การไม่ได้จนถึงทุกวันนี้เช่นเดียวกัน