“ดร.พิสิฐ” ย้ำ ขรก. ถอนเงินจาก กบข. จัดหาที่อยู่อาศัยได้

05 ส.ค. 2565 | 03:30 น.

“ดร.พิสิฐ” ย้ำ มาตรา 5 เปิดทางให้ กบข. จัดสวัสดิการโดยนำเงินข้าราชการไปจัดหาที่อยู่อาศัยได้ ย้ำไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายหมดเปลือง แต่เป็นการลงทุน

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้ลุกขึ้นชี้แจงต่อสภาฯเมื่อวันที่ 4  ส.ค.ที่ผ่านมา  ว่า กมธ. มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าสมควรจะให้ กบข. นั้นเปิดทางให้นำเงินของข้าราชการไปลงทุนในการจัดหาที่อยู่อาศัยได้

 

พร้อมกับย้ำว่า ไม่ได้เป็นการนำเงินไปใช้จ่ายหมดเปลือง แต่เป็นการลงทุน ดังนั้น เงินออมจึงยังอยู่ แต่ไม่ได้อยู่ในรูปที่ กบข. บริหาร แต่ กบข. นำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายเป็นหลักหมื่นล้าน โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ข้าราชการคงตกใจพบว่าตัวเลขติดลบ 

 

 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้นการที่คนจะมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี ยิ่งเป็นข้าราชการ มีฐานะในสังคม ก็สมควรมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า เงินเดือนมีไม่มาก และค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพสูง ทำให้ข้าราชการมีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเองได้ยาก

 

จึงต้องขอบคุณผู้ร่างกฎหมาย เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้ออกแบบ กบข. โดยเฉพาะในมาตรา 5 ที่ระบุถึงวัตถุประสงค์ของ กบข. นั้นมี 3 ประการ คือ 1. ให้มีการออม 2. จัดบำนาญ และ 3. จัดสวัสดิการ แต่ กบข. ที่ผ่านมาไม่ได้สนใจทำเรื่องการจัดสวัสดิการ 

 

ในฐานะที่ตนเป็นอดีต กก.อิสระ ของ กบข. จึงต้องพยายามปกป้องดูแลให้ กบข. มีความมั่นคง การนำเสนอกฎหมายข้อนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ กบข. เสียหาย แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้มีสิทธิ์ได้นำเงินของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เงินงบประมาณ หรือเงินแผ่นดิน เนื่องจากข้าราชการแต่ละคนมีบัญชีเงินสมทบ ดังนั้น 30% นั้น จึงไม่ได้ไปเบียดบังผู้ที่เป็นสมาชิก กบข. คนอื่นๆ 

 

นอกจากนี้ทุกวันนี้ เราเห็นข้าราชการทำงานอย่างเหนื่อยยากลำบาก ภาระหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารชาติประกาศ สูงถึง 90% ของ GDP ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ข้าราชการไปก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ซึ่งเงินใน กบข. นี้เป็นเงินของเขาเอง เมื่อนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนดาวน์บ้านก็จะเป็นการลดภาระหนี้ลงไปได้บ้าง 

“เท่าที่ผมมีประสบการณ์ และสอบถามจากหลายท่าน ใครก็ตามที่ซื้อบ้านในยามที่อายุน้อย เมื่อยามเกษียณ บ้านนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ผมเคยซื้อบ้านหลังแรกด้วยเงิน 5 แสน 5 แต่ 10 กว่าปีต่อมา ขายได้ 3 ล้านกว่าบาท

 

เพราะอสังหาฯ นั้นเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงมากในทุกสังคม ดังนั้นจึงขอย้ำว่า เงินนี้ไม่ใช่เป็นการใช้หมดเปลือง แต่เป็นการเอาไปลงทุน และเมื่อลงทุนแล้ว ระบบการเงินก็มีวิธีการที่จะให้ผู้เกษียณอายุสามารถนำมาใช้เลี้ยงดูตัวเองได้ หรือ reverse mortgage” ดร.พิสิฐ กล่าว

 

พร้อมกับย้ำว่า การนำเงินของข้าราชการไปลงทุนในการจัดหาที่อยู่อาศัยนี้ ในแง่กฎหมายไม่มีข้อติดขัดใด ตามมาตรา 5 วงเล็บ 3 จัดสวัสดิการ ที่ กบข. สามารถจัดทำได้ และยังถือว่าเงินดังกล่าวเป็นการนำเงินไปลงทุน พร้อมกับเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่เป็นการให้ กบข. ปล่อยสินเชื่อ เพราะเงินดังกล่าวจะเป็นการลดภาระหนี้ และเป็นเรื่องของการออม

 

เนื่องจากเป็นการลงทุนที่เจ้าของประหยัดค่าเช่าบ้าน เมื่อถึงวาระสุดท้ายก็สามารถได้เป็นเจ้าของบ้านได้ การที่บอกว่ามาตรา 44 มาตรา 45 ไปล็อคเงินไว้ และจะได้เงินก็ต่อเมื่อเกษียณนั้นจึงไม่เป็นความจริง เนื่องจากในมาตรา 5 ได้เปิดทางให้ กบข. ดำเนินการจัดสวัสดิการให้ข้าราชการ