“อาคม” แจงรัฐบาลเร่งแก้หนี้ครัวเรือน ลุยออกมาตรการเพิ่ม

21 ก.ค. 2565 | 15:12 น.

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงแทนนายกฯ รับรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเร่งแก้หนี้ครัวเรือน หลายมาตรการ พร้อมลุยออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยบรรเทาความเดือดร้อนต่อเนื่อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงฝ่ายค้าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพิ่มเติมแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะหนี้ทั้งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ 

 

นายอาคม กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2565 มีสัดส่วนอยู่ที่ 89.2% ลดลงจากเดิม 90% เป็นไปตามการเร่งตัวของ GDP ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลงในทุกประเภทสถาบันการเงิน

 

ยกเว้นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของครัวเรือนที่ต้องการเติมสถาพทางการเงิน 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ส่วนในระบบธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันพบว่า มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 15 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดสวนหนี้รายย่อย 34.5% หรือ 5.26 ล้านล้านบาท คิดเป็น 32% ต่อ GDP

 

ทั้งนี้แบ่งเป็นหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ 17% ที่เหลือเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งบัตรเครดิต 9.6% และหนี้เช่าซื้อ 7.7% ซึ่งสิ่งที่ต้องดูตอนนี้คือคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้รายย่อยโดยรวม ปัจจุบันเริ่มปรับตัวดีขึ้นภายใต้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ยังมีอยู่

 

เห็นได้จากยอดหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ (NPL) ระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 2.93% ลดลงจากไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 3.04% 

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา 2 ปี รัฐบาลได้ออกมาตรการสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินมาช่วยเหลือประชาชน ดังนี้

  1. การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้ครัวเรือนลูกหนี้ เช่น ลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตเหลือ 5% และขยายเพดานวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง แต่ก็ต้องดูถึงความสามารถในการชำระหนี้ด้วย
  2. การแก้ไขปัญหาหนี้เดิม หรือการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการพักชำระหนี้ตามแนวทางการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ภายใต้มาตรการแก้หนี้ระยะยาว
  3. การช่วยเหลือกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้ให้ไม่โดนซ้ำเติมจนติดอยู่กับกับดักหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การปรับฐานการตัดการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ กำหนดเพดานดอกเบี้ยการผิดนัดชำระหนี้ และกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้
  4. การแก้หนี้เพิ่มเติมร่วมกับพันธมิตร เช่น การไกล่เกลี่ยหนี้ และการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้

 

นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลยังมีแนวทางเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน คือ การปรับลดและทบทวนโครงสร้าง และเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม พร้อมออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ เช่น ธปท.ได้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคล จาก 28% เหลือ 25% และพิโกไฟแนนซ์ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงจาก 36% เหลือ 33% เป็นต้น