“สนธิรัตน์”เสนอรัฐบาลปรับวิธีคิดและการทำงานแก้“ของแพง”ยึดหลัก 3 มิติ

05 ก.ค. 2565 | 04:09 น.

“สนธิรัตน์”เสนอรัฐบาลปรับวิธีคิดและการทำงานแก้“ของแพง” โดยต้องมองตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ใน 3 มิติหลัก คือ  “ค่าขนส่ง-ต้นทุนการผลิตอาหาร-การบริหารจัดการต้นทุนสินค้าไปสู่มือพี่น้องประชาชน”

วันนี้(5 ก.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา “ของแพง” ระบุว่า

 

วันนี้ไม่มีอะไรที่เป็นโจทย์ใหญ่เท่ากับทำอย่างไรถึงจะบรรเทาแบ่งเบาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนครับ

เป็นที่น่ายินดีของคนไทยกับการขยับของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตามที่ผมได้เสนอแนะในสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเทียบกับ ครม. เศรษฐกิจ และ การมองหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามวิกฤตเช่นนี้ 

 

ซึ่งจากที่ผมได้เสนอว่า การยกปัญหาพลังงานให้เป็นวาระแห่งชาติเป็นสิ่งจำเป็น และการมองหาทางแก้ไขใหม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งพลังงาน 

แต่ผมขอเสนอต่อว่าในการแก้ไขปัญหาปากท้องของแพงในปัจจุบัน รัฐบาลต้องปรับวิธีคิดและการทำงาน โดยมองตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ใน 3 มิติหลัก คือ 

                               “สนธิรัตน์”เสนอรัฐบาลปรับวิธีคิดและการทำงานแก้“ของแพง”ยึดหลัก 3 มิติ
1. มิติค่าขนส่ง อย่างราคาพลังงาน เช่น น้ำมันและแก๊สที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อราคาสินค้าปลายทางเพิ่มขึ้นโดยปกติค่าขนส่งจะเป็นประมาณ 2% ของราคาขายสินค้าหากคำนวณถึงวัตถุดิบจะคิดเป็นประมาณ 70% ของต้นทุนทำให้ค่าขนส่งวัตถุดิบแฝงต้นทุนค่าขนส่งในราคาสินค้าอีกประมาณ 1.5-2%

 

หมายความว่า ต้นทุนค่าขนส่งต่อราคาสินค้ามีโอกาสเพิ่มอย่างน้อย 3-4 % ดังนั้น การกำกับและควบคุมต้นทุนสินค้าพลังงานจึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องแก้ไข


2. มิติต้นทุนการผลิตอาหาร ซึ่งมีหัวใจสำคัญต่อต้นทุนสินค้าตัวอย่างเช่น เรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี ซึ่งการแก้ปัญหาปลายทางอย่างกำกับควบคุมราคาสินค้าอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเข้าไปดูที่ต้นทางโดยไปดูทีละรายการที่เป็นปัญหาเช่นการลดหย่อนภาษีต่อสินค้านำเข้าที่เป็นวัตถุดิบ การจัดหาปุ๋ยราคาถูกจากแหล่งอื่นๆของโลก

 

หรือแม้กระทั่งรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรจัดปุ๋ยถูกตามจำนวนไร่ให้เกษตรกรแต่ละรายเพื่อช่วยลดต้นทุน ทั้งหมดเป็นการแก้ที่ต้นน้ำของราคาสินค้า


3. มิติการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าไปสู่มือพี่น้องประชาชน อย่างผู้ค้าส่งและค้าปลีก ผ่านการป้องกันไม่ให้เกิดการค้ากำไรเกินควรรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ค้าที่เป็นผู้ค้าที่ดีให้ค้าขายได้ เช่น อาจนำส่วนที่ร่วมมือไปหักภาษีหรือค่าใช้จ่าย เป็นต้น


ดังนั้น การบริหารและแก้ไขปัญหาจะต้องมองแบบองค์รวมและบูรณาการ 


ต้องดูปัญหาตั้งแต่ต้นทางที่จะไปกระทบต่อต้นทุนสินค้า และปลายทางที่รัฐอาจต้องเข้าไปควบคุมดูแล ผ่านความร่วมมือกันของหน่วยงานอย่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และส่วนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 


“วันนี้ความเดือดร้อนของประชาชนต้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ ผมขอส่งต่อข้อเสนอทางออกให้กับรัฐบาลได้ปรับปรุงแก้ไขและหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรเทาปัญหาต่อไปครับ” นายสนธิรัตน์ ระบุ