“สมคิด”ปลุกพลังเด็กรุ่นใหม่หยุดยั้งวงจรอุบาทว์ประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”

28 มิ.ย. 2565 | 07:13 น.

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”ปลุกพลังเด็กรุ่นใหม่ ร่วมหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ ประชาธิปไตยแบบ “แจกกล้วย” ให้เป็นของปวงชน ไม่ใช่แค่กลุ่มผลประโยชน์ และไม่กี่ตระกูลที่ผูกขาด

ภายหลัง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย” เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยชำแหละปัญหาของประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตยแจกกล้วย ไม่อายฟ้าดิน เป็นประชาธิปไตยแค่แสวงหาผลประโยชน์ ของกลุ่มผลประโยชน์เพียงไม่กี่กลุ่ม และผูกขาดไม่กี่ตระกูลนั้น


ล่าสุดวันนี้ (28 มิ.ย.65)  ดร.สมคิด ได้ออกมาปลุกพลังเด็กรุ่นใหม่ และประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม มากขึ้น ร่วมกันต่อต้าน และหยุดยั้งวงจรดังกล่าว 

 

ดร.สมคิด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยที่ชาวธรรมศาสตร์พยายามต่อสู้มาตลอด 88 ปี ผมว่าชาวธรรมศาสตร์คงจินตนาการไปไม่ถึง และคงไม่ต้องการเห็นประชาธิปไตย ใน version แจกกล้วยเป็นหวีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่อายฟ้าดินอย่างที่เป็นข่าว และถูกใช้เพียงเพื่อเป็นเกราะในการแสวงประโยชน์ทางการเมือง


 และชาวธรรมศาสตร์คงไม่ต้องการให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เพียงเอื้ออำนวยให้คนเพียง 1% แต่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศมากกว่า 60% ในขณะที่คนไทย 99% เป็นเจ้าของสินทรัพย์เพียงสามสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบให้สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมือง ซึ่งวันหนึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองครั้งใหญ่ได้ หรือเราจะพอใจกับประชาธิปไตยแบบนี้

แต่เด็กรุ่นใหม่นั้น เขารับไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่มีไฟ แต่เขาไม่สนใจหรอกที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ใช่ เขาจะหันหลังให้เสียด้วยซ้ำ แต่พวกเขาจะกลับมามีความกระตือรือร้นหากเป็นการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่เขาต้องการ 

                          “สมคิด”ปลุกพลังเด็กรุ่นใหม่หยุดยั้งวงจรอุบาทว์ประชาธิปไตยแบบ“แจกกล้วย”
“ผมเคยถามคนรุ่นใหม่ เขาเรียกประชาธิปไตยที่เขาเห็นตั้งแต่เล็กจนโตว่า 4 Second Democracy แค่ 4 วินาทีที่คุณหย่อนบัตร หลังจากนั้นก็หมดไป”

 

 แต่เขาต้องการสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า Deliberative Democracy ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ได้ร่วมถกแถลงในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ หาข้อสรุปเพื่อโน้มน้าวกลุ่มผู้เห็นต่าง นั่นแหละคือ สิ่งที่จะทำให้พวกเขาจะมีแรงบันดาลใจในการต่อสู้ และเข้าร่วมอย่างแข็งขัน เราต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ไปถึงจุดนั้น จุดที่ประชาธิปไตยเป็นของปวงชน ไม่ใช่ของกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่ม หรือครอบครัวไม่กี่ตระกูล