“ดร.พิสิฐ” แนะ กสทช. นำงบการเงินที่ สตง. ตรวจสอบแล้ว เผยแพร่ในรายงานประจำปี

27 พ.ค. 2565 | 02:38 น.

“ดร.พิสิฐ” แนะให้ กสทช. นำเสนองบการเงินที่ สตง. ตรวจสอบแล้ว พิมพ์เผยแพร่ในรายงานประจำปีให้ทัน พร้อมทวงถามแนวบริหารจัดการยอดเงินสดใน บช.ออมทรัพย์ ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อกสทชและประเทศ

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในวาระรับทราบการแจ้งผลการตรวจสอบงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำหรับปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า 

 

รายงานที่มานำเสนอในวันนี้เป็นงบการเงินของปี 2562 ซึ่งได้เคยมานำเสนอแล้วเมื่อปี 2563 แต่เป็นรายงานที่ สตง. ยังไม่ได้ตรวจสอบ และที่ประชุมแห่งนี้ได้อภิปรายไว้แล้ว แต่ยังมีสิ่งที่ติดอยู่ในใจคือ รายงาน สตง. ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งเป็นงบการเงินของปี 2562 และ กสทช. จะต้องทำงบเสนอภายใน 150 วัน ทำให้รายงานประจำปีใช้งบการเงินที่ สตง. ยังไม่ได้ตรวจสอบรับรอง

 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามผู้ชี้แจงจาก กสทช. ว่าจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้งบของ กสทช. ได้รับการตรวจสอบจาก สตง. อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันลงในรายงานประจำปีเพื่อนำเสนอต่อประชาชน มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาว่า งบการเงินในรายงานประจำปีเป็นตัวเลขอย่างหนึ่ง และที่ สตง. ตรวจสอบจะเป็นอีกอย่าง ซึ่งมีความแตกต่างเป็นหลักพันล้านหมื่นล้าน

 

ทั้งที่เรื่องนี้ก็เป็นบรรทัดฐานของบริษัทมหาชนโดยทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ถือปฏิบัติ กล่าวคือก่อนที่จะนำเสนอข้อมูลต่อประชาชนจะต้องผ่านการตรวจสอบรับรองของผู้สอบบัญชีก่อน 

นอกจากนี้ ดร.พิสิฐ ได้สอบถามเพิ่มเติมจากการที่ งบการเงินของ กสทช. ปี 2562 นั้น สตง. รับรองอย่างมีเงื่อนไข เพราะมีเรื่องทรัพย์สินที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากการกสทช. มี 2 ระบบ คือระบบ Express กับ ระบบ Ratio Frequency identification นั้นได้มีการแก้ไขไปแล้วอย่างไรหรือไม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

พร้อมกับทวงถามถึงการที่ กสทช. ได้แสดงยอดเงินสดที่ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์เป็นหลักหมื่นล้านซึ่งมีผลตอบแทนต่ำนั้น ได้มีการแก้ไขอย่างไร เพราะเงินจำนวนดังกล่าวควรบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ เพราะถือว่าเป็นเงินแผ่นดินส่วนหนึ่งที่จะต้องนำไปลงทุน ไม่ใช่เก็บเป็นเงินสดไว้ตามที่ปรากฎในงบการเงิน

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคปชป.

ดร.พิสิฐ ยังได้ท้วงติงอีกว่า ตัวงบการเงินนั้นเป็นงบของหน่วยงาน และสตง. รับผิดชอบเฉพาะใบหน้างบ ซึ่งในตัวงบการเงินแม้จะทำไว้ได้อย่างละเอียด แต่เมื่อดูรายการเกี่ยวกับข้อมูลประกอบงบ ได้ให้ตัวเลขไว้เป็นจำนวนมาก

 

แต่ไม่มีการระบุหน่วย ทำให้ต้องเข้าใจเอาเองว่ามีหน่วยเป็นล้านบาท แต่ในงบที่ สตง. รับรอง และมีลายเซ็นผู้บริหารนั้นมีหน่วยเป็นบาท ดังนั้นการทำตารางใดๆ จะต้องมีความชัดเจนและถูกต้อง 
 

สำหรับเอกสารฉบับที่ 2 นั้นต้องขอบคุณ สตง. ที่ได้จัดทำการประเมินผลการใช้เงินและทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างมากที่ สตง. ได้พยายามประเมินผลการใช้เงินของหน่วยงานของรัฐ และหวังว่าจะทำกับหน่วยราชการด้วยว่ามีการใช้เงินอย่างไร เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดประสิทธิผล ประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร 

 

ดังนั้นจึงได้เสนอแนะแนวทางการประเมินผลการใช้เงินว่า ไม่ใช่อยู่ที่การเบิกจ่ายว่าทำได้เต็มที่หรือไม่ อย่างที่พยายามระบุไว้ในรายงาน และอาจไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่จะเร่งให้ใช้เงิน

 

ทั้งที่บางหน่วยงานอาจอยู่ในสภาพที่ไม่ควรใช้เงิน สตง. ควรดูว่า โครงการต่างๆ หรืองานต่างๆ ที่ทำนั้น ได้ใช้เงินไปตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งจะทำให้การประเมินผลการใช้เงินให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนได้