“ทนายนกเขา-จตุพร”ยื่นหนังสือถึง "โจ ไบเดน"ค้านพันธะสัญญาไทย-สหรัฐ

12 พ.ค. 2565 | 08:46 น.

ทนายนกเขา -จตุพร นำมวลชนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อต้านอนุสัญญาอินโดแปซิฟิก ไม่เห็นด้วยกับภาระกิจนายกฯไทย สานสัมพันธ์กับสหรัฐ ชี้สุ่มเสี่ยงต่อการเสียดุลย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบความรู้สึกอันดีที่จีน รัสเซีย มีต่อประเทศไทย

นายนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) พร้อมด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และภาคประชาชน รวมตัวหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

 

ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีตัวแทนจากสถานทูตออกมารับหนังสือไว้ ท่ามกลางตำรวจนครบาลประมาณ 90 นาย กระจายกำลังในการดูแลความปลอดภัย อำนวยการจราจรโดยรอบพื้นที่ 

นายนิติธร ล้ำเหลือ-นายจตุพร พรหมพันธุ์  นำมวลชน ยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

เป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ก็เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐ ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐฯ และพันธกรณีจากแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และองค์กรนาโต้-2 จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ  สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ 

 

โดยทางกลุ่มมองว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นภาระผูกพันต่อเนื่องจากอนุสัญญา indo-pacific ที่เคยมีการลงนามในอดีตและ ในสมัยของพล.อ. ประยุทธ์  ลงนามพันธสัญญาเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อปี 2562 ในการเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์การต่อต้านประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน

 

และยังเป็นการเกี่ยวพันถึงการเป็นแนวร่วมในการต่อต้านสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งสหรัฐ ฯ มีท่าทีชัดเจนว่าจะเข้ากับฝ่ายของประเทศยูเครนมากกว่า ซึ่งอาจดึงไทยเข้าไปเป็นแนวร่วมด้วย 

 

กลุ่มประชาชนคนไทย  รวมตัวค้านสานสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐ

มียุทธศาสตร์การก่อตั้ง นาโต้ 2 ในพื้นที่ประเทศอาเซียน ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะทำให้สมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทุกฝ่ายมีปัญหา และจะกลายเป็นพันธะสัญญาผูกพันไปในอนาคต หากมีความรุนแรงในสงครามหรือเกิดสงครามขึ้นในอาเซียน ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบในอนาคต จึงจำเป็นต้องยื่นหนังสือดังกล่าวเพื่อแสดงความชัดเจนว่าประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับพันธะสัญญาใดๆ ที่เกิดขึ้น

 

สำหรับจดหมายเปิดผนึกที่ทำถึง นายโจเซฟ อาร์.ไบเดน จูเนียร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า

 

ห้วงระหว่างวันที่  12-13 พฤษภาคม 2565 สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสหรัฐฯและผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ (ASEAN – US Special Summit) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย เดินทางไปร่วมประชุมด้วยตนเองตามคำเชิญของท่านนั้น 


แน่นอนว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติ ย่อมเป็นโอกาสดีที่ผู้นำไทยจะได้ไปสานสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือต่อกันกับผู้นำระดับโลก หลังจากที่ทุกชาติต่างต้องกักตัวเอง ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 มาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้ ด้วยสถานการณ์สู้รบ “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ยังคุกรุ่น และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยที่สหรัฐอเมริกาประกาศสนับสนุนยูเครนอย่างชัดเจน ตลอดจนความพยายามของสหรัฐที่จะสกัดกั้นการแพร่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนของ “จีน” ที่เป็นพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซียมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนไทยเห็นว่า การประชุมครั้งนี้อาจมีวาระซ่อนเร้นที่หาใช่ให้ความสำคัญกับวาระความร่วมมือครบรอบ 45 ปี ของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา(White House) มีการเผยแพร่รายงาน “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา” (INDO-PACIFIC STRATEGY OF THE UNITED STATES) จัดทำโดยกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยระบุถึงประเทศไทยว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางอาเซียน 


รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีความมั่นคง ต้องหมายถึงว่า จีนต้องไม่มีบทบาท และสหรัฐอเมริกาต้องเป็นผู้นำแห่งเอเชียแปซิฟิก สหรัฐฯ จึงจะเกิดความมั่นคง รวมทั้งยังระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ด้วยสนธิสัญญาที่แข็งแกร่ง อันประกอบด้วย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย 


รวมทั้งก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยยังร่วมลงนามกับนายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Statement) ระหว่าง ไทย - สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการยกระดับความเป็นพันธมิตรและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศเพื่อร่วมต่อต้านศัตรู จนกระทั่งทำเนียบขาวนำชื่อประเทศไทยไปใส่ไว้ในรายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก อย่างเป็นทางการว่า เป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่มีสนธิสัญญาผูกพันกัน


ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นกลุ่มรวมประชาชน จึงมีข้อห่วงกังวลว่า จะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากนานามิตรประเทศว่า ประเทศไทยไม่รักษาดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเกิดความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธขึ้นภายในภูมิภาคนี้ จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลและประชาชนของสหรัฐอเมริกาดังนี้


1. ยกเลิกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Statement) ระหว่าง ไทย - สหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการยกระดับความเป็นพันธมิตรและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศเพื่อร่วมต่อต้านศัตรู เนื่องจากผู้แทนรัฐบาลไทยไปลงนาม โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และประชาชนไม่ทราบในรายละเอียดและข้อเท็จจริง จนสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศอื่นๆ ของไทย


2.ยกเลิกพันธกรณีที่มีผลสืบเนื่องมาจาก“ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา” (INDO-PACIFIC STRATEGY OF THE UNITED STATES) และพันธกรณีที่มีผลสืบเนื่องไปสู่การจัดตั้งองค์กรนาโต้-2 ขึ้นในอาเซียน


3.ขอให้สหรัฐอเมริกายุติการอ้างสนธิสัญญา ข้อตกลง แถลงการณ์ร่วม เพื่อนำไปสู่บทสรุปแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า ประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรร่วมรบ หรือเลือกอยู่ข้างสหรัฐฯ ในการต่อต้าน “ศัตรู” ย่อมไม่ถือเป็นมารยาททางการทูตที่ดีต่อมิตรประเทศ เนื่องจากเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ  แต่เพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งจะก่อปัญหาให้เกิดกับประเทศไทย ดังนั้นสหรัฐฯ จึงไม่ควรกระทำการดังกล่าวซ้ำอีก


4.หากสหรัฐอเมริกาจะอาศัยข้ออ้างในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯและผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษเพื่อดำเนินการใดๆ ร่วมกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  จนก่อให้เกิดข้อสงสัยในความสัมพันธ์อันดีของประเทศไทยกับมิตรประเทศอื่นๆ อันเสมือนหนึ่งเป็นการเลือกข้างนั้น ย่อมถือเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับฉันทานุมัติจากปวงชนชาวไทย และประชาชนชาวไทยจะร่วมคัดค้านอย่างถึงที่สุด


กลุ่มประชาชน จึงเรียนมา เพื่อขอยืนยันว่า ประชาชนไทยยังคงความเป็นมิตรกับอเมริกา อันถือเป็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 200 ปี บนพื้นฐานความร่วมมือในหลากหลายมิติ ที่ต้องเคารพยอมรับความมีอธิปไตยให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม และประเทศไทยยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ พร้อมเป็นพันธมิตรกับทุกประเทศ ยึดมั่นในเส้นทางของการพัฒนาอย่างสันติ ยืนหยัดต่อความถูกต้อง เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ