"สามารถ"แนะจับตาผู้สมัครหาเสียง หั่นค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำได้หรือขายฝัน

12 พ.ค. 2565 | 03:59 น.

ดร.สามารถ แนะใช้วิจารณญาณ อย่าหลงเชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ประกาศจะหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว จับตาจะทำได้จริงหรือแค่ขายฝัน พร้อมเตือนผู้สมัครถ้าชนะเลือกตั้งแล้วทำไม่ได้ ระวัง!จะถูกถามหาความรับผิดชอบ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์แนะคนกรุง ใช้วิจารณญาณ ในการเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อย่าหลงเชื่อ ที่ประกาศจะหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวให้ถูกลง  มีข้อความว่า 
 


ท้าทาย ! ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ลั่น
จะหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว

น่าสนใจยิ่งนักที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หลายคนประกาศก้องว่าจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวถูกลง ซึ่งผมก็ปรารถนาเช่นนั้น แต่จะทำได้หรือขายฝัน ต้องใช้วิจารณญาณ คนกรุงเทพฯ อย่าหลงเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง

 

1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน


1.1 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก
ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-44 บาท กทม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดยบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 


1.2 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์แนวทางและปัญหาแก้หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

 

1.2.1 ส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-31 บาท และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย กทม. จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585


1.2.2 ส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง

12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร ยังไม่เก็บค่าโดยสาร กทม. จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585 ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมหนี้งานโยธาประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท


2. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต

จากข้อมูลของ กทม. พบว่าหาก กทม. ต่อสัญญาให้บีทีเอสเป็นเวลา 30 ปี ตั้งปี 2573-2602 โดยจะต้องพ่วงส่วนต่อขยายให้บีทีเอสรับผิดชอบด้วยตั้งแต่วันที่จะลงนามสัญญาจนถึงปี 2602 ทั้งนี้ มีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท) และจะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ถ้าได้ผลตอบแทนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. เพิ่มเติมอีก

 

โดยบีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้แทน กทม. ถึงปี 2572 ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และจะต้องรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด
จากข้อมูลของ กทม. เช่นเดียวกัน พบว่าถ้าไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอสค่าโดยสารสูงสุดจะเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 158 บาท และ กทม. จะต้องแบกรับภาระหนี้เองทั้งหมด

 

3. ข้อเสนอของผู้สมัครผู้ว่า กทม.
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนหาเสียงว่าจะไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอส และจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง เช่น เหลือ 15-45 บาท หรือ 20-25 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย หรือ 25-30 บาท เป็นไปตามการหาเสียงของแต่ละคน 
บางคนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้บ้าง บางคนไม่ได้เสนอเลย ผมได้รวบรวมแนวทางของผู้สมัครบางคน พร้อมความเห็นของผมต่อแนวทางดังกล่าวไว้ดังนี้

3.1 ไม่รับโอนหนี้จาก รฟม.
นั่นหมายความว่า กทม. จะไม่รับโอนส่วนต่อขยายที่ 2 พร้อมหนี้งานโยธาประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท จาก รฟม. ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสต้องหยุดเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเหตุให้ รฟม. จะต้องหาผู้เดินรถใหม่ ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลาเดินทางเพราะจะต้องเปลี่ยนขบวนรถ ไม่สามารถเดินทางแบบไร้รอยต่อได้ และที่สำคัญ อาจทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น

 

3.2 โอนสัมปทานให้กระทรวงคมนาคม
เป็นการผลักภาระหนี้ของ กทม. ให้รัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้งประเทศต้องช่วยแบกภาระหนี้ของ กทม. อีกทั้ง แม้รถไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ไม่ได้หมายความว่าค่าโดยสารจะถูกลงได้ตามที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หาเสียงไว้ ผมอยากให้เปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่ง รฟม. (ในสังกัดกระทรวงคมนาคม) ลงทุนเอง 100% ค่าโดยสารก็ยังแพงกว่าค่าโดยสารที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนใช้หาเสียง 


ที่น่ากังวลก็คือหากกระทรวงคมนาคมรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาอยู่ในสังกัด และสามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงได้ อาจมีการเรียกร้องให้ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นทุกสายภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมอีกด้วย ถามว่ากระทรวงคมนาคมจะทำได้หรือไม่ ?

3.3 ออกพันธบัตร
การออกพันธบัตรจะทำให้ กทม. เป็นหนี้เพิ่มขึ้น และมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรที่ออกมาด้วย กทม. จะหาเงินจากไหนมาจ่ายดอกเบี้ย

 

3.4 ให้เช่าพื้นที่

รายได้จากการให้เช่าพื้นที่ทำการค้าขาย และ/หรือโฆษณาเมื่อหักเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือไม่มากพอที่จะไปชำระหนี้ได้

 

4. ข้อสังเกต

4.1 ค่าโดยสารที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใช้หาเสียงน่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีรายละเอียดแสดงให้เห็นว่า จะลดค่าโดยสารได้อย่างไร และจะลดเมื่อไหร่ ทำให้คนกรุงเทพฯ ต่างคาดหวังว่าผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะสามารถลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ในไม่ช้าหลังจากเข้ารับตำแหน่ง หรืออย่างช้าจะต้องไม่เกิน 4 ปี (ภายในปี 2569) ตามวาระการดำรงตำแหน่ง คงไม่รอไปจนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 และที่สำคัญ หากลดค่าโดยสารก่อนสิ้นสุดสัมปทาน กทม. จะหาเงินจากไหนไปชดเชยให้ผู้รับสัมปทาน


4.2 ค่าโดยสารตามที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หาเสียงไว้ไม่มีรายละเอียดแสดงให้เห็นว่า กทม. จะได้กำไรหรือจะขาดทุนมากน้อยเพียงใด ถ้าขาดทุน จะหาเงินจากไหนมาใช้ในการเดินรถต่อไป 


4.3 ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกลง เพราะจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน แต่ผมไม่อยากเห็นคนกรุงเทพฯ ถูกหลอก ดังนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาล่อขอคะแนน ถ้าชนะเลือกตั้งแล้วทำไม่ได้ ระวัง ! จะถูกถามหาความรับผิดชอบ

 

5. สรุป
ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายถูกลง ไม่ใช่เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่านั้น ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ได้สำเร็จ และหากเป็นไปได้ ขอให้พิจารณาหาทางแก้ตามความเห็นและข้อสังเกตของผม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสารทุกคน