สกลธีย้ำจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ขายขยะ เก็บภาษีเมือง

09 พ.ค. 2565 | 06:04 น.

“สกลธี”ย้ำจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนแรกที่หาเงินได้บริหารจัดการการใช้เงินเป็น พร้อมแจ้ง 2 นโยบายหาเงินจาก “สกลธีโมเดล” โยกงานเก็บขยะให้เอกชน พร้อมขายขยะทำเงิน และเก็บ City Tax จากนักท่องเที่ยว เชื่อสร้างรายได้เงินไหลเข้ากทม.อย่างน้อย 8,000 ล้านต่อปี

นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 กล่าวถึงนโยบายการบริหารจัดการงบประมาณของ กทม. ที่ตั้งใจจะทำภายใต้ “สกลธีโมเดล” หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.ว่า สิ่งที่ตนพูดมาตลอด และมีความตั้งใจหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็คือการเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในรูปแบบที่เรียกว่า “หาเงินได้ ใช้เงินเป็น” 

 

นายสกลธี  กล่าวต่อว่า  จากประสบการณ์การทำงานในช่วงที่ตนเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ทำให้ตนทราบดีว่า มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เพราะปีหนึ่งอาจจะดูเยอะประมาณ 80,000 ล้านบาท ถ้าพูดเป็นตัวเลขกลมๆ แต่ถ้าหักค่าเงินเดือน หักค่าหนี้สะสมหักทุกอย่างไปแล้ว จะเหลือเม็ดเงินงบประมาณปีละราว 20,000 ล้านบาท

และยิ่งช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมา ในช่วงโควิด-19 จะเหลืองบที่ใช้ได้ประมาณกว่าหมื่นล้านบาทต้นๆ เท่านั้น ซึ่งในการพัฒนาเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ งบประมาณดังกล่าวแทบจะเป็นไปไม่ได้ 

                             สกลธีย้ำจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ขายขยะ เก็บภาษีเมือง
นายสกลธี กล่าวต่อว่า ดังนั้นในวันนี้ตนจะมาเสนอทางออกในการที่กรุงเทพฯ จะหาเงินได้ เพราะต้องเรียนรู้ว่าที่ผ่านมาผู้ว่าฯ แต่ละสมัยใช้เงินอย่างเดียว รอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเท่านั้น  แต่วิธีคิดของสกลธีโมเดล จะต้องหาเงิน ไม่ใช่การที่จะต้องรอรับเงินจากรัฐบาลอย่างเดียว 

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่เหมือนกับเมืองสำคัญในโลกอื่นๆ ทั่วไป การหาเงินเพื่อนำมาพัฒนาให้ดีขึ้นจึงจำเป็น ซึ่งผมจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนแรกที่หาเงิน มาพัฒนาเมืองด้วยตัวเอง” 


นายสกลธี กล่าวด้วยว่า สำหรับตัวอย่าง 2 เรื่อง ที่ทำได้แน่นอน เรื่องแรก คือการบริหารจัดการขยะ ที่ตนพูดมาเสมอและเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงในครั้งนี้ด้วย เพราะในการบริหารจัดการเรื่องขยะของ กทม. ต้องมีเงินที่ถูกใช้ไปกับเรื่องนี้ในปีหนึ่งๆ ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่เม็ดเงินดังกล่าวถูกใช้หมดไปกับค่าเช่ารถ ซื้อรถค่าถังขยะ ที่แพงสุดคือการจ้างเอาไปฝังกลบ 

                     สกลธีย้ำจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ขายขยะ เก็บภาษีเมือง  
ถ้าคนเป็นผู้ว่าฯ เป็นคนที่รู้กฎหมายจะรู้เลยว่าสามารถทำวิธีอื่นได้ คือให้เอกชนเข้าทำ โดยการแก้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้ กทม. สามารถประหยัดเงินปีหนึ่งๆ ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และแถมขยะที่ได้ กทม. ยังขายให้เอกชน และหมุนกลับมาเป็นเงินรายได้ของ กทม. ได้อีกด้วย 

 

“นอกจากนี้ผมยังคิดเลยว่า เราควรมีจุดพักขยะที่เป็นเตาเผา ขยะความร้อนสูงเล็กๆ ขนาด 100 ถึง 200 ตัน โดยไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ ตั้งกระจาย เป็นจุดๆ เพื่อจะไม่ต้องมีการขนถ่ายขยะมาก หากทำเป็นระบบปิดเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นเขาทำกับเตาเผาขยะแล้วก็มีความร้อนสูงเหมือนที่ทำที่หนองแขม ให้อยู่ตามจุดต่างๆ ที่มีพื้นที่ทำได้ และไม่กระทบกับวิถีความเป็นอยู่ของประชาชนเขาแล้ว เรายังสามารถดึงพลังงานจากการเผาขยะกลับมาเป็นเรื่องของการผลิตไฟฟ้าชุมชนได้อีกด้วย” นายสกลธี กล่าว

                      สกลธีย้ำจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ขายขยะ เก็บภาษีเมือง
สำหรับ เรื่องที่ 2 ที่คิดว่าสามารถหาเงินเข้ากทม.ได้ นายสกลธี ระบุว่า คือ เรื่อง City Tax ซึ่งหลายคนคงเคยไปเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว เวลาไปนอนโรงแรมนิวยอร์ก หรือว่าเมืองใหญ่ๆ เวลาจ่ายค่าบริการ ใบเสร็จออกมาจะเห็น ในบิลว่ามีรายละเอียดของ City Tax อยู่ด้วย 


นั่นคือการที่เราไปนอนต่างประเทศแล้วเขาก็จะเก็บภาษีเมือง แล้วแต่อัตราที่กำหนดเช่น นิวยอร์ก เก็บ 8% หรือที่อื่นอาจจะ 5% ซึ่งในนโยบายของ “สกลธีโมเดล” เกี่ยวกับการหาเงินเข้ามาพัฒนากรุงเทพฯ มีแนวนโยบายว่า ปกติคนต่างชาติมาเมืองไทยจะต้องเสียค่าเหยียบแผ่นดินให้กับการท่าฯ อยู่แล้ว 


ในสกลธีโมเดลจะเก็บในส่วนของการเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องเก็บมากแค่ 100 บาทต่อหัว ถ้าลองคำนวณเก็บเพียง 100 บาทต่อห้อง จากจำนวนนักท่องเที่ยว ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมากรุงเทพฯ 60 ล้านคน คิดแค่ครึ่งหนึ่งนักท่องเที่ยวนอนเตียงคู่ต่อห้องก็เหลือประมาณ 30 ล้านคน ต่อปี เมื่อคำนวณแล้ว 1 คืนจะได้เงิน 3,000 ล้านบาทต่อปี แต่โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวจะนอนในกรุงเทพฯ ประมาณ 4.7 คืน ดังนั้น แค่ 2 วิธีนี้ กรุงเทพฯ จะมีเงินเพิ่มอย่างน้อย 8,000  ล้านบาท 

                      สกลธีย้ำจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนแรกหาเงินได้ ใช้เงินเป็น ขายขยะ เก็บภาษีเมือง
นายสกลธี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการใช้เงินเป็นนั้น ที่ผ่านมาการบริหารในการใช้งบประมาณของ กทม.นั้น จะมีการตั้งงบเอาไว้ในส่วนกลางค่อนข้างมากเกินไป การกระจายไปตามเขตต่างๆ น้อยมาก ดังนั้นในเขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จะทราบเลยว่า ถนนเส้นหลักๆ ถนนยังดีอยู่ แต่พอถนนในซอยย่อย เราจะเห็นว่ายังเป็นลูกรังอยู่ พอเวลาฝนตกถนนก็จะเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง และเขตก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ 


เพราะว่าปัญหาคืองบที่แต่ละเขตมีไม่เพียงต่อการแก้ไขพื้นผิวถนนในตรอกซอกซอย เพราะงบไปกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้นเราควรกระจายงบไปยังเขตพื้นที่ เพื่อความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนกรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน 


“ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ หาเงินได้และใช้เงินในการบริหารเป็น ผมคิดว่าอันนี้มันจะทำให้คนกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นอย่างถึงที่สุดครับ” นายสกลธี กล่าว