ป.ป.ช.ฟัน ปารีณา ไกรคุปต์ ยื่นทรัพย์สินเท็จ พระเครื่อง-หนี้เงินกู้ 7.7 ล้าน

22 มี.ค. 2565 | 12:00 น.

ป.ป.ช.ชี้มูล "ปารีณา ไกรคุปต์" จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ปมเจ้าหนี้ 7.7 ล้าน "ประทีป พรมีบูชา" นายกเทศมนตรีคลองตาคต ไม่ได้กู้กันจริง พ่วงปมแจ้งพระสมเด็จบางขุนพรหม 2.5 ล้าน พระนางพญา 3.5 ล้าน นำพระอื่นแสดงแทน

วันนี้( 22 มี.ค.65) สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ใน 2 ประเด็น คือ

 

1. กรณีการเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ 7.7 ล้านบาท ซึ่งจากการไต่สวนเจ้าของเช็คเงินกู้ให้การปฏิเสธ เป็นการปล่อยกู้ตีเช็คเปล่าค้ำประกัน ไม่มีการกู้กันจริง แต่คาคว่านำเงินไปใช้เพื่อลงเลือกตั้ง โดยบุคคลที่เป็นลูกหนี้ตามที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน คือ นายประทีป มีพรบูชา นายกเทศมนตรีตำบลคลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 

2. พระสมเด็จบางขุนพรหม 2.5 ล้านบาท พระนางพญา ราคา 3.5 ล้านบาท ที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน มีการนำพระอื่นมาแสดงแทน

 

ส่วนกรณีการแจ้งครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 รวม 58 แปลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นข้อกล่าวหากรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ปารีณา ยืนยันว่า รายการที่ดิน ภ.บ.ท.5 ที่ครอบครองอยู่จริงมี 29 แปลง ไม่ใช่ 58 แปลง แต่ที่แจ้งไปด้วยตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากฝ่ายบัญชีคลาดเคลื่อนในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ที่ประชุมเห็นว่า ไม่เป็นการจงใจยื่นบัญชีเท็จ

ขั้นตอนต่อไปทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัยต่อไป       

 

ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกามีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่  ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ไปแล้ว หลังศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีถูกดำเนินคดีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี ตามที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาไปก่อนหน้านี้

 

น.ส.ปารีณา ถือเป็นนักการเมือง และ ส.ส.รายแรก ที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย