พปชร.หน้าแตกยับ ปชป.ผนึกฝ่ายค้าน ยึดประธานก.ม.ลูกเลือกตั้ง

01 มี.ค. 2565 | 11:42 น.

“พลังประชารัฐ”หน้าแตกยับ! “ประชาธิปัตย์” ผนึกฝ่ายค้าน ยึดประธานกมธ.แก้กฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ “สาธิต ปิตุเตชะ” โค่น “ไพบูลย์ นิติตะวัน” 22 ต่อ 21 คะแนน เร่งพิจารณาให้เสร็จก่อนเปิดสภาฯ พ.ค.65

วันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยพรรคการเมือง ได้ประชุมเป็นนัดแรก โดยให้ นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวในที่ประชุม เพื่อเลือกประธาน กมธ.


“ไพบูลย์”วืดปธ.กมธ.

 

ทั้งนี้ในที่ประชุม นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอชื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขณะที่ นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กมธ.ในโควต้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอชื่อ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สัดส่วนคณะรัฐมนตรี(ครม.) 

การคัดเลือกช้วิธีการลงคะแนนเสียง หลังนับคะแนน ผลปรากฏว่า นายสาธิต ชนะ นายไพบูลย์ ไปด้วยคะแนน 22 ต่อ 21 จากที่มีผู้ลงคะแนนทั้งสิ้น 43 คน จาก กมธ.ที่มีทั้งหมด 49 คน

 

จากนั้น ทางฝ่ายเลขาฯ กมธ.ได้โทรศัพท์โฟนอินไปหา นายสาธิต ซึ่งประชุมครม.อยู่ ว่า ผลคะแนนการเลือกประธาน กมธ. นายสาธิต ชนะ จะรับหรือไม่ นายสาธิตตอบว่า “รับ”  จากนั้นเป็นการเลือกในตำแหน่งอื่นๆ ต่อไป


เปิดเบื้องหลังดัน“สาธิต”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเสียงที่ลงคะแนนให้กับ นายสาธิต 22 เสียง นั้น คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก กมธ.ซีกฝ่ายค้าน ที่ร่วมประชุมทั้งสิ้น 12 คน และกมธ.โควต้าพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วน
แหล่งข่าวในที่ประชุม กมธ. แจ้งว่า ก่อนการเสนอชื่อ และลงมติ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมพูดคุยกับกมธ.ซีกพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อขอให้สนับสนุน นายสาธิต เป็นประธาน  พร้อมให้เหตุผลว่า ร่างพ.ร.ป. ถือเป็นกฎหมายสำคัญ เมื่อครม.ส่งชื่อรัฐมนตรีเข้าร่วมควรให้ความสำคัญ และให้รัฐมนตรีเป็นประธานกมธ. 


ทำให้ นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำหน้าที่แทนนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะดำเนินการตามมติวิปรัฐบาล ที่สนับสนุนให้ นายไพบูลย์ รับตำแหน่งดังกล่าว


“พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะทำตามมติวิปรัฐบาล แต่เมื่อใช้การลงคะแนนลับ จึงไม่ทราบว่าใครลงคะแนนให้ใครบ้าง ทำให้ไม่ทราบว่าใครที่แอบลงคะแนนแบบอื่นหรือไม่ ตอนนับคะแนนโดยเจ้าหน้าที่  ได้ขานเบอร์หนึ่งของ นายไพบูลย์ และเบอร์สอง นายสาธิต สลับกันไป จนถึงบัตรสุดท้ายถึงรู้ว่า นายสาธิต ได้ตำแหน่งประธาน กมธ. เมื่อรู้ผลที่ประชุมได้พักประชุม 10 นาที” แหล่งข่าวระบุ


สำหรับการพักการประชุมนั้น แหล่งข่าวระบุว่า เพื่อให้ที่ประชุมเลือกบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่ง นายสมชาย เสนอชื่อ นายไพบูลย์ เป็นประธานกมธ.คนที่หนึ่ง แต่นายไพบูลย์ ขอถอนตัว และไม่รับตำแหน่งในกมธ.ทุกตำแหน่ง  ทำให้การเลือกตำแหน่งรองประธานกมธ. จึงเริ่มที่ส.ว., ฝ่ายค้าน, ฝ่ายรัฐบาล  ตามลำดับ 

 

สำหรับ กมธ.ที่ลาประชุม มีทั้งสิ้น  5 คน คือ 1.นายกิตติพงษ์  บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), 2.นายเกรียงไกร  พานดอกไม้ ผู้อำนวยการสำนัก กกต. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกมธ.ในโควต้า ครม. , 3.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ติดประชุมกรรมาธิการฯ อื่น , 4. นายสาธิต ติดประชุม ครม. และ 5. นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ส.ว. 

                                               พปชร.หน้าแตกยับ

ขณะที่อีก 1 คนที่ไม่มาลงมติ คือ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เนื่องจากเที่ยวบินจากนครศรีธรรมราชล่าช้ากว่ากำหนด จึงทำให้มาประชุมในช่วงแรก ตามวาระเลือกประธานกมธ. ไม่ทัน 

 

ด้านนายชินวรณ์ ให้สัมภาษณ์โดยเชื่อว่า การเลือกนายสาธิต เป็นประธานกมธ. จากเดิมที่รัฐบาลวางตัวนายไพบูลย์ นั้น จะไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานร่วมกัน ตามที่มีข่าวระบุว่าคนของรัฐบาลแย่งตำแหน่งกันเอง และจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหากัน ส่วนกรอบการทำงานนั้นจะหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคมนี้

 

แบ่งตำแหน่งในกมธ.

 

นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง แถลงผลการประชุม กมธ.เพื่อพิจารณาตั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารสุข ด้วยมติ 22 ต่อ 21 เสียง

 

ขณะที่ตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการฯ จำนวน 8 คน ได้แก่ นายอรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา, นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย, นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ, นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา,  นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล,  นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา และ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

 

ส่วนโฆษกกรรมาธิการฯ จำนวน 3 คน ได้แก่ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา และ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย 
โดยมี นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และ นายจักรพันธ์ พรนิมิต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมมีที่ปรึกษากรรมาธิการ จำนวน 8 คน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ กมธ. 49 คน ที่แต่งตั้งตามโควต้าต่างๆ นั้น   แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล รวม 22 คน แบ่งเป็น ครม. 8 คน, พรรคพลังประชารัฐ 6 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน, ภูมิใจไทย 3 คน,, พรรคเศรษฐกิจไทย  1 คน และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน 


ทั้งนี้ในโควต้าของพรรคภูมิใจไทยทั้ง 3 นั้น พบว่า ไม่มีส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยแม้แต่คนเดียว โดยเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล 2 คน และคนนอก 1 คน 


ขณะที่ฝ่ายค้าน มี 13 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 8 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และ พรรคประชาชาติ 1 คน ส่วน ส.ว.มีทั้งสิ้น 14 คน


เร่งถกก.ม.ลูกจบก่อนพ.ค.


นายดิเรกฤทธิ์ ยังชี้แจงกรอบการทำงานของ กมธ.ฯ ว่า กมธ.จะมีการประชุมทุกวันพุธ และ วันพฤหัสบดี ซึ่งหากระยะเวลาไม่เพียงพอ กรรมาธิการก็พร้อมนัดประชุมเพิ่มเติม โดยจะเร่งพิจารณาเนื้อหาให้แล้วเสร็จ ก่อนเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ทันต่อการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในที่ประชุมรัฐสภา ที่จะเปิดสมัยประชุมสภาสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 ในเดือนพฤษภาคมนี้


ด้าน นายสมคิด เชื้อคง โฆษกกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า บรรยากาศในที่ประชุมกรรมาธิการฯ เป็นไปด้วยดี มีการถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งแม้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ จะไม่ได้รับการเลือกเป็นประธานกรรมาธิการฯ ก็ยังให้ความช่วยเหลือกรรมาธิการฯ พร้อมยืนยันว่า กรรมาธิการฯ จะเร่งพิจารณาทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนเปิดสมัยประชุมสภา


“บิ๊กป้อม”ดันไพบูลย์


วันเดียวกัน ก่อนหน้านั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการพิจารณาบุคคลเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ควรมาจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือ ส.ว. ว่า 
"ฝ่ายรัฐบาล โดยพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเเน่นอน คิดว่าจะทำหน้าที่ได้ดี" พล.อ.ประวิตร ระบุ 


อย่างไรก็ตาม กรณีที่ฝ่ายค้านคัดค้าน ไม่อยากได้ นายไพบูลย์ มาทำหน้าที่ประธานกมธ.คณะดังกล่าวนั้น พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะตอบคำถามแต่อย่างใด