วิบากกรรม“พลังประชารัฐ”เสี่ยงยุบพรรค

31 ม.ค. 2565 | 08:08 น.

วิบากกรรม“พลังประชารัฐ”เสี่ยงยุบพรรค : สถานภาพของพรรคพลังประชารัฐ จะรอดจากการยุบพรรคไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกกต.ที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ

สถานการณ์ทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ที่น่าจับตามองว่า “รัฐบาลลุงตู่” จะยังเดินหน้าต่อไปได้จนครบเทอม 4 ปี ในปี 2566 หรือไม่ ต้องมองไปที่ปัญหา “พรรคพลังประชารัฐ”

 

เพราะทันทีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยกทีมขนส.ส.ออกจากพรรค เตรียมไปก่อร่างสร้างพรรคใหม่ “เศรษฐกิจไทย” ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันที

เพราะ 21 เสียงที่หายไปส่งผลต่องานในสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน

 

ดูอย่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเย็นวันพุธที่ 26 ม.ค.65 ที่ผ่านมา สภาก็หวิดล่มลง ขณะมีการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง วาระรับหลักการ ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ  

 

หลังจากที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้าง กระทั่งเวลา 19.00 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานที่ประชุม สอบถามว่า ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลพร้อมลงมติเลยหรือไม่ 

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายค้านพร้อมลงมติ ขณะที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องมีการตั้งกรรมาธิการ(กมธ.) เมื่อสักครู่ได้ประสานกันแล้ว เห็นว่าจะอนุญาตเมื่อได้อภิปรายมาพอสมควรแล้ว จะขอไปลงมติในครั้งถัด โดยนายสุชาติ กล่าวเสริมว่า เมื่อพิจารณาดูแล้ว เห็นว่า บางเหลือเกิน เอาไว้ลงมติในคราวหน้า และสั่งปิดประชุมทันที ในเวลา 19.05 น. … ประธานเห็นท่าว่า ส.ส.อยู่กันน้อยเหลือเกิน เลยชิงปิดประชุมสภาไปเสียก่อน

 

ร้องยุบพรรคพปชร.

 

กลับมาดูปัญหาของพรรคพลังประชารัฐ ที่สถานการณ์ขณะนี้นอกจากอยู่ในภาวะ “พรรคแตก” แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การ “ยุบพรรค” หรือไม่ เพราะมีคดีร้องเรียนไปยัง กกต.ให้ตรวจสอบขณะนี้มี 2 เคสเกิดขึ้น

 

กรณีแรก เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นกกต.ให้ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ หลังมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพวกรวม 21 ส.ส.ออกจากพรรค ชอบด้วยข้อบังคับพรรค และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่  หากพบฝ่าฝืนอาจเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอัน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 (2) เป็นเหตุให้ กกต.อาจเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือสั่งยุบพรรคได้ 

 

โดยให้ตรวจสอบว่า 1.สมาชิกเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่เป็นเหตุร้ายแรงจนต้องให้ออกจากสมาชิกพรรค ชอบหรือไม่

 

2. ไม่ได้มี ส.ส.ทั้งหมดของพรรคเข้าร่วมประชุมจนครบ จะถือว่า ชอบหรือไม่

 

3. ไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนสมาชิกทั้ง 21 คน เพื่อหาข้อสรุปก่อนเสนอให้ที่ประชุมพรรคพิจารณา ชอบหรือไม่ 

 

4. ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ถูกให้ออกต้องพ้นสภาพ ส.ส.ไปเลยหรือไม่ เพราะถ้าย้ายพรรคไปแล้วก็จะไปแซงบัญชีรายชื่อของพรรคอื่น หรือไปอยู่พรรคที่ไม่เคยส่งเลือกตั้ง ก็จะไปเป็นบัญชีรายชื่อของพรรค โดยไม่เคยถูกเลือกมาเลย ไม่ว่าแบบไหน น่าจะหมดสภาพ ส.ส.ไปเลย และบัญชีรายชื่อของ พปชร.ลำดับถัดไปน่าจะได้ขึ้นมาแทนที่หรือไม่

 

ร้องบิ๊กป้อมครอบงำพรรค

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565 นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ได้เข้ายื่นหนังสือขอให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทย 

 

นายเอกชัย ยกเหตุว่า วันที่ 19 ม.ค.2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. สั่งให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พลังประชารัฐ โดยที่ประชุมมีมติให้ขับ ส.ส.ของพรรค 21 คน ต่อมา นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม อดีต ส.ส.พปชร. ซึ่งถูกขับออกจากพรรค ยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อขอให้ทบทวนมติการขับตนเองออกจากการเป็นสมาชิก 

 

หนังสือหน้า 7 ระบุว่า เมื่อหัวหน้าพรรคเข้ามาในห้องประชุมได้แจ้งว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะออกจากพรรค โดยจะมีการย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย และจะให้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค ให้นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขาชิการพรรค และให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นที่ปรึกษาพรรค โดยจะให้ส.ส.พปชร. ที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ที่รวมตัวกันอยู่ในห้องประชุมนั้นย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย พร้อมกับ ร.อ. ธรรมนัสด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่นำใบสมัครสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยมาให้นายสมศักดิ์ และส.ส.ที่อยู่ในห้องประชุมลงชื่อ

 

นายเอกชัย กล่าวอีกว่า สื่อมวลชนยังนำเสนอคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร กรณีการทบทวนมติการขับ 21 ส.ส.ออกจาก พปชร. เพื่อย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยว่า "ไม่เห็นจะต้องรับมือเลย ก็พรรคผมทั้งนั้น" ทั้งนี้พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม... 

 

จึงถือเป็นการครอบงำพรรคนี้ อันถือเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จึงขอให้ กกต.ดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทย และตัดสิทธิทางการเมือง กก.บห.ของ 2 พรรคนี้

 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ได้ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการยื่นเรื่องไป กกต. คณะกรรมการบริหารพรรคอาจจะเรียกประชุมพรรคกับมติก็ได้ แต่ถึงตอนนี้ไม่ได้แล้ว เพราะ พล.อ.ประวิตร ยื่นไปที่ กกต.เรียบร้อยแล้ว

 

สถานภาพของพรรค “พลังประชารัฐ” จะ “รอด” จากการ “ยุบพรรค” ไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กกต.ที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ..