CPI ดัชนีรับรู้การทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนนอยู่ที่ 110 ของโลก

25 ม.ค. 2565 | 10:11 น.

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2564 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก พบไทยคะแนนลดลงจาก 36 เหลือ 35 คะแนน ลดลงไป 1 คะแนน แต่ร่วง 6 อันดับ จาก 104 ไปอยู่ที่ 110

วันที่ 25 ม.ค. 2565 เพจเฟซบุคสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทย ได้ 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก

 

สถิติคะแนน CPI ของไทยประจำปี 2564 หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 85 คะแนน ถัดมาเป็นมาเลเซีย 48 คะแนน ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน อินโดนีเซีย 38 คะแนน และไทย 35 คะแนน


ลำดับถัดจากนั้นคือ ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน ลาว 30 คะแนน เมียนมาร์ 28 คะแนน กัมพูชา 23 คะแนน ส่วนบรูไน มิได้มีการระบุข้อมูลคะแนนของปี 2564

CPI ดัชนีรับรู้การทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนนอยู่ที่ 110 ของโลก

สำหรับแหล่งข้อมูลของคะแนนจาก CPI ปี 2564 ที่ใช้ในการประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูล จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่า

 

1.IMD WORLD หรือคะแนนในส่วนการติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 41 คะแนน

 

2.BF (IT) หรือการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

 

3.EIU หรือความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

 

4.GI หรือการดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน เท่ากับปี 2563

 

.PERC หรือระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน
 

CPI ดัชนีรับรู้การทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนนอยู่ที่ 110 ของโลก

6.PRS หรือการมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ได้ 32 คะแนน เท่ากับเมื่อปี 2563

 

7.WEF หรือภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 42 คะแนน ลดลง 1 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 43 คะแนน

 

8.WJP หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน

 

9.V-DEM หรือการทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม มากน้อยเพียงใด ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน โดยได้ 26 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน