ข่าวดี!รัฐออกแพคเกจช่วยแรงงานอิสระ เกษียณได้บำนาญ-คุ้มครองอุบัติเหตุ

18 ม.ค. 2565 | 02:29 น.

รัฐบาลออกแพคเกจสร้างความมั่นคงแรงงานอิสระ เชิญชวนสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ เกษียณได้บำนาญ คุ้มครองอุบัติเหตุ

วันที่ 18 ม.ค.2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) สมัครออมเงินควบคู่ไปกับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเติมเต็มเงินออมและสร้างความมั่นคงทางการเงิน สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)
 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 โดย กอช. ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จัดคู่หูสวัสดิการเพื่อประชาชน เชิญชวนผู้ที่มีสิทธิสมัคร อายุ 15 – 60 ปี และเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40(1) วางแผนเงินออมหลังอายุ 60 ปี ควบคู่กับ กอช. เพียงออมเงินขั้นต่ำ 50 บาท สูงสุด 13,200 บาทต่อปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้สวัสดิการจาก 2 หน่วยงานรวมกัน โดยจะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพิ่มตามช่วงอายุสมาชิก สูงสุด 100% ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการลงทุน ซึ่งได้รับความค้ำประกันผลตอบแทน รวมถึงสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม และในระหว่างการทำงาน สมาชิกจะได้เงินทดแทนรายได้กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ค่าทำศพจากสำนักงานประกันสังคม และเมื่ออายุหลังอายุ 60 ปี จะได้บำนาญรายเดือนจาก กอช. และได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิก กอช. มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ได้แก่ นักเรียน นิสิตและนักศึกษา พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้ที่ขับรถรับจ้างทั่วไป ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่แอปพลิเคชัน “กอช.” หรือ เว็บไซต์ กอช. www.nsf.or.th หรือสอบถาม สายด่วนเงินออม โทร.02-049-9000

 นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลและคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีหลักประกันความมั่นคง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 19.6 ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงานได้