สิระ เจนจาคะ พ้นส.ส.ต้องคืนเงินอะไรบ้าง ที่นี่มีคำตอบ

22 ธ.ค. 2564 | 11:20 น.

ดูชัดๆ สิระ เจนจาคะ พ้นสภาพความเป็น ส.ส. หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีฉ้อโกง ต้องคืนเงินเดือน-เบี้ยประชุม และค่าอะไรบ้าง ที่นี่มีคำตอบ

สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ นักการเมืองรายล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้สิ้นสุดสภาพความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) จากเหตุเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมาวลกฎหมายอาญา โดยศาลวินิจฉัยให้ นายสิระ สิ้นสุดสภาพ ส.ส. และให้จัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน 

น่าสนใจไม่น้อยเมื่อปรากฎความเคลื่อนไหวล่าสุด พบว่า สำนักการคลัง สภาผู้แทนราษฎร กำลังตรวจสอบเพื่อดำเนินการเรียกคืนเงินเดือนและรายได้ทั้งหมด ของนายสิระ เบื้องต้น มีรายงานว่า เงินรายได้จากการเป็น ส.ส. ของนายสิระ ตั้งแต่เดือนมี.ค.2562 ประกอบด้วย

  1. เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 113,560 บาท ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2562 ถึงวันที่ 22 ธ.ค.2564
  2. เงินเดือนผู้ช่วย ส.ส. ของนายสิระ จำนวน 7 คน ตั้งแต่ 15,000 – 20,000 บาท
  3. ค่าเบี้ยประชุม – ค่าเดินทางต่าง ๆ ของนายสิระ ระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมว่า มีจำนวนเงินจ่ายให้นายสิระไปทั้งหมดเท่าใด ซึ่งหลังจากคำนวณวงเงินที่นายสิระต้องจ่ายคืนเสร็จแล้วจะส่งหนังสือให้นายสิระรับทราบ เพื่อคืนรายได้ทั้งหมดที่ได้ไปให้สภาฯต่อไป

เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.เขตหลักสี่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดปมคดีฉ้อโกง ถือว่า ขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้นายสิระ ขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. เป็นผลให้สมาชิกสภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงว่า

คืนเงินเดือน สิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับ ชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้ง และ ดำเนินคดีอาญา ตามมาเป็นชุด

สภา มีหน้าที่เรียกคืนเงินเดือน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เบี้ยประชุมกรรมาธิการ เงินผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วย ส.ส. (รวม 7คน) ค่าเครื่องบิน  ฯลฯ  ย้อนหลังไปตั้งแต่บาทแรกที่ได้รับ

ส่วน กกต. มีหน้าที่ ฟ้องเอาค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งและฟ้องดำเนินคดีอาญาในฐานะใช้หลักฐานอันเป็นเท็จในการสมัครเลือกตั้ง

ส่วนการทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การลงมติในกรรมาธิการ หรือในสภา ให้ถือว่า ยังมีผลทางกฎหมาย  ไม่เสียไป

โทษทางอาญา กรณีรู้ตัวว่า ไม่มีสิทธิ ยังมาสมัครรับเลือกตั้ง ม.151 พ.ร.ป. ส.ส. จำคุก 1-10 ปี  และปรับ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี