นายกฯตั้ง" เข็มชัย ชุติวงศ์" ประธานตรวจสอบกฎหมาย “การอภัยโทษ”

17 ธ.ค. 2564 | 08:09 น.

นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกฎหมาย “การอภัยโทษ”เข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ย้ำให้กลั่นกรองหลักเกณฑ์ กระบวนการอย่างรอบคอบ

วันที่ 17 ธ.ค.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 337/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ  เมื่อ 16 ธันวาคม 2564มีคำสั่ง ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ  ซึ่งในที่นี้คือ  “พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564”   และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง  

 

โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก  รวม 8 คน  คือ (1) นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุดและประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ (2) นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กรรมการ (3) นายธีระพงษ์วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ กรรมการ (4) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ (5) พลเอก ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ กรรมการ (6) นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ (7) นายวิทยา สุริยะวงค์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ และ (8) นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการ และเลขานุการ

นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด

โดยให้คณะกรรมการ ดังกล่าว มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมาและการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติในการขอรับพระราชทานอภัยโทษและการกำหนดชั้นนักโทษของกรมราชทัณท์ เพื่อป้องกันมิให้นักโทษเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับตามกฎหมายและอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่องตามที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนการดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

ทั้งนี้ ประธานกรรมการรายงานผลการตรวจสอบ พร้อมกับข้อเสนอแนะ หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อนายกรัฐนตรี ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งฉบับนี้
 

 นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการทำงาน โดยให้แก่คณะกรรมการ ฯ พิจารณา กลั่นกรองและตรวจสอบหลักเกณฑ์และกระบวนการในชั้นของกรมราชทัณท์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส และถูกต้องเป็นธรรม รวมทั้งให้มีข้อเสนอแนะมาตรการในการดำเนินการต่อไปในอนาคตเพื่อให้การขอพระราชทานอภัยโทษบังเกิดประโยชน์ต่อผู้ต้องโทษและสังคมโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง ทั้งสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำเพ็ญอภัยทานในวาระและโอกาสพิเศษด้วย