“ศรีสุวรรณ”ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลรธน.วินิจฉัย 5 พรฎ.ลดโทษนักการเมือง

15 ธ.ค. 2564 | 07:49 น.

“ศรีสุวรรณ”ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัย 5 พรฎ.ลดโทษนักการเมืองคดีโกงชอบหรือไม่ ชี้เรื่องนี้รัฐบาลและครม.ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาทางการเมืองด้วยการลาออก

วันนี้(15 ธ.ค.64) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 (1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือ ตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ 5 ฉบับที่ออกมาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.50 (10) และ ม.63 หรือไม่ 

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการลดโทษ หรือ ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ต้องขังในราชทัณฑ์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีการลดโทษในขณะนี้เป็นจำนวนมากและบ่อยครั้งหรือไม่  
อีกทั้งการลดโทษผู้ต้องขังบางคน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมเคลือบแคลงและสงสัยอย่างมาก ว่าการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษที่ผ่านมานั้น มีความผิดปกติอะไรหลายประการ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นในเรื่องของโทษที่เกี่ยวกับการคดีทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม

ดังนั้น ประเด็นนี้จึงกลายเป็นที่ทางองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ไปทบทวนและไปสืบเสาะดูว่า มีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษตั้งแต่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาจนถึงปัจจุบันมีกี่ฉบับแล้ว ก็ปรากฏว่ามีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษมาแล้วตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 6 เมษายน 2560 มาถึงปัจจุบันมี 5 ฉบับด้วยกัน 

 

โดยทั้ง 5 ฉบับ ได้มีการจัดทำบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าการจะอภัยโทษนั้น ผู้ต้องขังหรือผู้ที่ถูกจำคุกที่จะได้รับการอภัยโทษนั้น ต้องเป็นผู้ถูกจำคุกที่มีความผิดเกี่ยวกับกฏหมายใดบ้าง ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบดูแล้วปรากฏว่า มีการอภัยโทษให้กับผู้ที่ถูกจำคุกในกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องการปราปรามการทุจริต 

“เป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จึงบรรจุบัญชีรายชื่อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตฯ นี้ อยู่ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษด้วย” 

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการหรือนักการเมือง เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญ จนเป็นที่มาปฏิวัติรัฐประหารและนำมาซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งหลายคนพูดกันมาโดยตลอดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงแล้ว แต่การที่รัฐบาลเสนอพระราชกฤษฎีกาไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้มีการอภัยโทษในวาระต่างๆ กับบรรจุกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในลิสต์บัญชีรายชื่อที่จะนำไปสู่การพระราชทานอภัยทานด้วย  

 

ดังนั้น ทางสมาคมฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะต้องเสนอเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยตีความว่า การที่รัฐบาลเสนอกฎหมายพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษทั้ง 5 ฉบับนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ประกอบมาตรา 175 หรือไม่

 

นายศรีสุวรณ กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลเสนอพระราชกฏษฎีกาฯ แล้วมีผลขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้น ผลตามมาต้องมีผู้ที่รับผิดชอบทางการเมือง ส่วนจะหมายถึงอะไรนั้นก็ต้องไปคิดดูกันเอาเอง โดยปกติความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล ก็คือ การลาออกและหมายถึงคณะรัฐมนตรีด้วย เพราะว่าเรื่องเหล่านี้ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี 

 

ดังนั้น ความรับผิดชอบทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีไปลงนามสนองพระบรมราชโอการนั้น ก็แสดงว่าการนำข้อมูลต่างๆ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรรมนูญนั้น นำขึ้นไปเสนอหรือให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงนาม อย่างไรก็ตาม ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยหรือตีความออกมาว่าอย่างไร