“ชาวนา-ข้าว” กับผลประโยชน์นักการเมือง

13 พ.ย. 2564 | 01:30 น.

“ชาวนา-ข้าว” กับผลประโยชน์นักการเมือง : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรฐกิจ ฉบับ 3731 หน้า 10 ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย.2564

"แทบทุกพรรคการเมือง ไม่มีใครพูดถึงการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาเลย ยังคงค้างคาอยู่ใน 2 ขั้ว จำนำ กับ ประกันรายได้ ที่จัดได้ว่าเลวทั้งคู่"

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ข้าว” เป็น “สินค้าการเมือง” มีพลัง มีผลต่อการเมือง ต่อนโยบายต่อการบริหารประเทศมากกว่าพืชเกษตรชนิดใด อันเนื่องเพราะเรามีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าผลผลิตชนิดอื่นมาช้านาน

 

อันเนื่องเพราะมีครอบครัวชาวนามากกว่า 4 ล้านครัวเรือน ถ้าหากนับรวมครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก 2 คน จะมีคนเกี่ยวข้องในวงจรการผลิตข้าว 16 ล้านคน 16 ล้านคะแนนเสียงที่ “นักการเมือง” ส่วนใหญ่คำนึงถึง

อันเนื่องเพราะสังคมไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก วงจรของข้าวจึงขยายไปที่ 60-70 ล้านคน นั่นหมายถึงส่วนแรก “ข้าวราคาถูก” ย่อมเกิดปัญหาทางการเมือง นั่นหมายถึงส่วนหลังข้าวราคาแพงเกินไปก็เป็นปัญหาทางการเมือง

 

ทุกรัฐบาลจึงสนใจเรื่องข้าวและชาวนา ในวิถี วิธีคิดที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกรัฐบาลเช่นกันที่ไม่คิดแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ

ผู้แทนของพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลชุดก่อนเสนอให้กลับไป “จำนำข้าว” ทั้งที่พังลงไปเพราะยึด “นโยบายจำนำข้าว” ในราคาสูง จนไม่อาจเรียกว่าจำนำเพราะไม่มีการไถ่ถอน แต่ข้าวทุกเม็ดไหลเข้าไปในสต็อกของรัฐบาล

 

ผลคือ “เจ็งทั้งระบบ” เสียหายทั้งงบประมาณแผ่นดินและก่อให้เกิดการฉ้อฉลอย่างมโหฬารในประวัติศาสตร์ แก้ปัญหาได้ชั่วคราวราคาถูกยกไปสูงด้วยโครงการที่เรียกว่า “จำนำข้าว” แต่ได้ทำลายองคาพยพการผลิต ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่ชาวนาที่ต้องยอมรับว่า เมื่อมีโครงการก็เร่งผลิต โดยไม่สนใจ ไม่ต้องคำนึงอะไร แค่หาที่ผลิตเพื่อเอาข้าวออกมาขายให้รัฐผ่านโครงการจำนำ

                                     “ชาวนา-ข้าว” กับผลประโยชน์นักการเมือง

พ่อค้าผู้รวบรวมข้าว (หยง) ไม่ต้องมี อันที่จริงระยะหลังก็ถูกดิสรัปไปเยอะแล้ว เพราะชาวนาเอาไปจำนำโดยตรงได้  โรงสีแปรสภาพจากผู้ชื้อข้าวจากชาวนาผลิตขายให้ผู้ส่งออกมาเป็นลูกจ้างรัฐ ในการแปรรูปและเก็บค่าฝากเก็บ สีอย่างไรให้ประสิทธิภาพดีก็ไม่ต้องสนใจ เพราะไม่ใช่ข้าวตัวเองแต่เป็นข้าวหลวง

 

ผู้ส่งออกก็พังทลายเพราะข้าวทุกเม็ดไปอยู่ที่รัฐบาล ไม่สามารถทำธุรกิจได้ ต้องรอให้รัฐชี้เข้าร่วมเป็นผู้ขาย ซึ่งในการชี้ให้ใครมันก็มีปัจจัยอยู่ประการเดียวว่า “ใครทอนเท่าไร”

 

รัฐบาลนี้เลือกใช้การ “ประกันรายได้” เป็นการแทรกแซงอีกวิธีการหนึ่ง ที่อาจจรั่วไหลน้อย ในแง่โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาผู้ปลูกโดยตรง แต่ที่น่าประหลาดใจตรงจำนวนครัวเรือนชาวนาเพิ่มขึ้น ถ้าข้อมูลไม่ผิดกระโดดไปที่ 4.6 ล้านครัวเรือน

 

โครงการนี้อาจจะมีปัญหาตรงการกำหนดราคาตลาดของโรงสีกับผู้ส่งออก ที่ถ้าหากขยับสอดคล้องกันกำหนดราคาตลาดต่ำ กว่าราคาประกันรายได้มากๆ ส่วนต่างสูง รัฐต้องจ่ายเยอะ ส่วนต่างนั้นอาจมีการ “ทอนคืน” กันในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะมาตรฐานความชื้น ในแต่ละขั้น ถ้าคิดจะคอร์รัปชัน ผู้คิดย่อมมีวิธีเสมอ

 

“โครงการประกันรายได้” อาจมีส่วนสำคัญทำให้ราคาตลาดไม่วิ่งและไม่เป็นไปตามธรรมชาติ น้อยครั้งที่ราคาตลาดจะยืนเหนือราคาประกัน หากไม่มีปัจจัยเฉพาะจริงๆ เช่น เรื่องปาล์ม ที่มาเลย์ อินโดฯ ผลผลิตลดขาดคนงานเข้าไปทำงาน ส่งออกมาน้อยจึงดันราคาสูงขึ้น แต่กรณี “ข้าว” แทบไม่เคยวิ่งเหนือราคาประกันรายได้เลย 

 

ทั้ง 2 โครงการล้วนเป็นโครงการแทรกแซงที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตเช่นเดียวกัน ว่ากันตรงๆ เป็นโครงการห่วย แต่ห่วยมากห่วยน้อยแตกต่างกัน แต่ล้วนเป็นโครงการที่ไม่น่าภาคภูมิใจทั้งสิ้น

 

แต่นักการเมือง 2 ขั้ว ยังคิดออกได้ แค่ 2 วิธีนี้ คือ “ประกัน” กับ “จำนำ” อันเนื่องเพราะพวกเขาไม่เคยคิดสร้างอนุสาวรีย์

 

บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขามองชาวนา มองเกษตรกรเช่นไร ไม่เปิดโอกาส สร้างโอกาสให้เขามีที่อยู่ที่ยืนระยะยาวเลยหรือ ไม่คิดให้เขามีศักดิ์ศรีเป็นบุคลากร เป็นองคาพยพที่มีคุณค่า คุณูปการต่อสังคมเลยหรือ

 

หรือคิดเพียงว่าเขาต้องเป็นผู้ถูกอนุบาลอยู่ร่ำไป ถามไปที่เขาแบบข้อมูลจริงๆ บ้างไหมว่าเขาต้องการเช่นนั้นหรือ 

 

การเมืองเรื่องข้าวร้อนแรงขึ้นมาอีกรอบ ในฤดูการผลิตนี้ เพราะเหตุช่วงต้นฤดู น้ำท่วม ซึ่งวงจรนี้จะมาแทบทุกปี เมื่อข้าวออกมามากช่วงต้นฤดู ชาวนาต้องเร่งเกี่ยวหนีน้ำ ความชื้นสูง ตลอดทุ่งภาคกลางยันภาคอีสาน

 

ขณะนี้เขาไม่ได้สร้างยุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวกันแล้ว จึงแทบไม่มีที่เก็บเพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด (อันนี้ปัญหาเดิม) เมื่อทะลักล้นออกมาไม่มีที่เก็บก็ต้องวิ่งไปขาย ขายพร้อมกันมากๆ ราคาก็ร่วงกราว 

 

เมื่อราคาร่วงก็ต้องร้องรัฐบาลให้แก้ รัฐบาลแก้โดยข้อเสนอพรรคการเมือง “ประชาธิปัตย์” ที่เสนอเงื่อนไขร่วมรัฐบาลต้องมี “ประกันรายได้” พยุงให้ชาวนา เมื่อมีโครงการประกันรายได้ รัฐบาลต้องควักเงินงบประมาณ หาเงินกู้มาโปะ

 

ได้ทำ ได้ช่วย ได้ร้องขอ โดยนโยบายพรรคที่เข้าไปร่วมรัฐบาล แต่พรรคแกนนำอย่าง พลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ได้หน้าได้ตาไปด้วย ทีท่าการหาเงินมาโปะ มาสุมในประเด็นนี้จึงมีเสียงเอะอะโวยวายออกมา กลายเป็นการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังอาจไม่พูดโดยตรง แต่อาจจะบ่นเปรียบเปรยกับคนใกล้ชิดว่า มากไป ล้นไป

 

แต่ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ไม่นิ่งเฉย ทิ่มตรงๆ ด้วยวาทะ “ส่วนตัวแล้วระบบประกันราคาข้าวแม้จะเป็นการช่วยเกษตรกรแล้ว แต่เป็นการทำให้เกษตรกรอ่อนแอ และการช่วยเหลือไม่รู้จะจบหรือสิ้นสุดเมื่อใด”


ออกอาการไม่ปลื้มประกันรายได้ 

 

เมื่อกระแสออกมาเช่นนั้น ก็ถูกสวนกลับจาก อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ “โครงการประกันรายได้” ไม่ได้เป็นโครงการแรกที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวนา แต่ในอดีตก็ได้มีการทำโครงการมาตลอด การจะมาบอกว่าเป็นภาระงบประมาณนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีหลายโครงการที่ต้องใช้งบประมาณ การใช้ดูแลประชาชนให้ทั่วถึงและได้ประโยชน์ เป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาล ทำทุกปี เป็นหน้าที่รัฐต้องไปหาเงินมา

 

ฟัดกันนัว เรื่องเงิน เรื่องคะแนนเสียง 

 

แทบทุกพรรคการเมือง ไม่มีใครพูดถึงการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของปัญหาเลย ยังคงค้างคาอยู่ใน 2 ขั้ว “จำนำ” กับ “ประกันรายได้” ที่จัดได้ว่าเลวทั้งคู่

 

แต่อาจมีรอยปริร้าวลงไป ในขั้วข้างประกันรายได้ ซัดกันไปตามโพลล์แคนดิเดตนายกฯ ที่โผล่ออกมาเป็นรอบๆ เป็นการเมืองเรื่องข้าว

 

ทั้งหมด ทั้งปวง ยังไม่มีแสงสว่างปลายอุโมงค์

 

ยังไม่มีเช้าวันใหม่ที่สดใสของชาวนาไทย !!