ดราม่า“รถนำ-หมอบุญ”ยังไม่จบ "พ.ต.อ.วิรุตม์" ชำแหละ 3 ปมน่าสนใจ

06 พ.ย. 2564 | 09:18 น.

ดราม่า “รถนำ-หมอบุญ” ยังไม่จบ "พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร" อดีตรองจเรตำรวจ ชี้ปม "รถนำ” มีหลายมิติ แฉปัญหา“รถนำเถื่อน”ผิดกม.-เอาเปรียบชาวบ้าน เปิดช่องจราจรพิเศษสุดเสี่ยง ขัดหลักวิศวกรรมจราจร

หลังเกิดการเผยแพร่คลิป "ขบวนรถวีไอพี" ขับสวนเลน โดยมีรถจักรยานยนต์ ตำรวจสน.ทองหล่อ เปิดทางนำขบวนให้บริเวณถนนกำแพงเพชร 7 ใกล้วัดอุทัยธาราม จนทำให้การจราจรติดขัด และเป็นกระแสดราม่า หลังหญิงสาวออกมาโวยวาย ไม่ให้รถเบนซ์หรูคันดังกล่าวผ่านไป ซึ่งปรากฎข้อมูลภายหลังว่า ขบวนรถ VIP ดังกล่าว มี นพ.บุญ วนาสิน หรือ “หมอบุญ” ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด นั่งอยู่ภายในรถ โดย "หมอบุญ"ระบุว่าบริเวณนั้นเป็นถนนวันเวย์ ส่วนรถตำรวจ 2 คัน ไม่ใช่รถนำขบวน 
    

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.) ได้วิพากษ์กรณีดังกล่าวในแต่ละประเด็น แยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
 

1. ปัญหารถนำ “หมอบุญ” ที่ทั้งตำรวจ และหมอบุญ อ้างว่าไม่ใช่ “รถนำ” 

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ตั้งข้อสังเกตุว่า ถ้าดูจากภาพตามคลิป ซึ่งมีหลายมุม ประชาชนทั่วไปก็คงต้องดูว่า เป็นรถนำหรือไม่ แต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่พยายามเบี่ยงเบน ไม่อยากให้พูดถึงเรื่องรถนำ เพราะจริงๆ แล้วการมี “รถนำ” หากไม่ใช่เป็นไปตามแนวปฏิบัติของคณะรัฐมนตรี ย่อมผิดกฎหมายทั้งสิ้น 

 

เรื่องนี้ถ้าสอบสวนแล้วพบว่า “ไม่ใช่รถนำ” จะมีความผิดทั้งกฎหมายและวินัยตำรวจ ทั้ง “คนนำ” และ “คนสั่ง” เหตุนี้นายตำรวจระดับสูงจึงพยายามเบี่ยงประเด็นว่าไม่ใช่การขับรถนำ 
 

2.ปัญหา “รถนำเถื่อน” ซึ่งเป็นประเด็นที่คนพูดถึงกันน้อย

 

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดแนวปฏิบัติเอาไว้ (เพราะไม่มีกฎหมายฉบับไหนรองรับเรื่องการมีขบวนรถนำ) แนวปฏิบัติที่ว่านี้ระบุไว้ชัดว่า บุคคลสำคัญที่จะมีรถนำขบวนได้ มีแค่ไม่กี่คนในประเทศ​ ประกอบด้วย

 

-ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ 
    

-นายกรัฐมนตรี 
    

-ประธานรัฐสภา 
  

 -รองประธานรัฐสภา 
  

-ประธานศาลฎีกา 
    

-ศาลรัฐธรรมนูญ
    

-ศาลปกครองสูงสุด 
    

-สมเด็จพระสังฆราช
  

 -รองนายกรัฐมนตรี 
   

-รัฐมนตรี 
   

-ผู้นำฝ่านค้านในสภาผู้แทนราษฎร 
     

-ประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 
     

-อดีตนายกรัฐมนตรี 

 

ส่วนที่เหลือต้องขออนุญาตใช้เป็นครั้งๆ ส่วนข้าราชการ หรือหัวหน้าส่วนราชการ ไม่มีสิทธิ์ใช้รถนำ ยกเว้น “ขบวนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดทางราชการที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญที่เกรงว่าจะไม่ทันเวลา เช่น ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น”

 

ฉะนั้น แม้แต่นายกฯ จะใช้รถนำตอนไปงานแต่งงาน งานศพ เล่นกอล์ฟไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดทางราชการ แต่ที่ผ่านมามีการอ้างแบบ “ตีขลุม” ว่าเพื่อความปลอดภัย 

 

ส่วนตำรวจระดับผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ มีรถนำไม่ได้ แต่หลายคนก็มีรถนำ เปิดไฟฉุกเฉินตลอด ชาวบ้านเจอกันบ่อย และเอือมระอากันมาก อดีตผบ.ตร หลายคนเกษียณแล้ว ยังมีรถนำ ที่ผ่านมาประชาชนรู้สึกรำคาญ และรู้สึกเดือดร้อน เหลื่อมล้ำ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตำรวจทำได้หรือไม่ และอาศัยกฎหมายอะไร วันนี้เกิดเรื่องขึ้นมา จึงเป็นโอกาสที่จะต้องปฏิรูป 

 

ดูง่ายๆ ในจังหวัดของท่าน ผู้การตำรวจไปไหน ก็จะมีรถนำเปิดไฟฉุกเฉิน 

 

นอกจากนั้น ตำรวจยังใช้ช่องว่างที่คนไม่รู้กฎหมาย นำรถตำรวจไปขับนำรถพ่อค้าที่ร่ำรวย หรือนักการเมือง เพราะได้เงินทิปงามๆ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนสั่งให้ไปขับนำพ่อค้าหรือนักการเมือง ก็จะได้บุญคุณ ขอรับการสนับสนุน ขอโน่นขอนี่แลกเปลี่ยนกันภายหลัง 

 

ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนั้นคือ “รถนำเถื่อน” นอกจากใช้รถนำ เปิดไฟฉุกเฉิน หรือแม้แต่ไซเรนขอทางแล้ว ยังสั่งให้ตำรวจจราจรที่คุมไฟจราจรตามแยกต่างๆ เปิดไฟเขียวตลอดทางจนถึงบ้านด้วย เรื่องนี้ก็รู้กันทั่ว แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ 
 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุด้วยว่า การใช้รถนำเถื่อน นำวีไอพีตัวปลอม สั่งไปเปิดไฟเขียวตลอดทาง เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ กทม.ใช้ระบบไฟสัญญาณอัตโนมัติเหมือนประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลกไม่ได้ เพราะตำรวจต้องคุมไฟเปิดไฟเขียวให้พวก VIP เป็นระยะๆ 

 

ในความเป็นจริง “รถนำเถื่อน” สร้างความเดือดร้อนกระทบสิทธิ์การใช้ทางของประชาชนมากมาย ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีรถนำขบวนอภิสิทธิ์ชน และ “รถฉุกเฉินเถื่อน” เละเทะเหมือนประเทศไทย

 

"ถ้าสังเกตดีๆ รถตำรวจวิ่งเปิดไฟฉุกเฉินและไซเรนเพื่อระงับเหตุร้าย เช่น เกิดเหตุลักทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว ทำร้ายร่างกาย เหมือนต่างประเทศ แทบไม่เคยเห็นในเมืองไทย เพราะเวลามีเหตุร้าย มีแต่รถมูลนิธิกับรถพยาบาลที่ไปถึงที่เกิดเหตุก่อน นี่คือตลกร้ายของประเทศนี้" 

 

3.เรื่องการเปิดช่องทางพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาจราจร

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง แต่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่นึกจะทำก็ทำ เพราะส่งผลต่อความปลอดภัยและอุบัติเหตุบนท้องถนน 

 

เพราะ “สิทธิในการใช้ทาง” ต้องไปตามกฎหมาย คือเครื่องหมายที่มีประกาศเจ้าพนักงานจราจร และ กทม.ลงในราชกิจจานุเบกษา ป้ายต่างๆ ต้องจัดทำอย่างมีมาตรฐาน ติดตั้งไว้มองเห็นได้ชัดเจน ตำรวจจะทำป้ายอะไรไปติดโดยพละการไม่ได้ ไม่มีผลตามกฎหมาย และข้อเท็จจริง การปฏิบัติเช่นนี้มีปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมาย

 

"ที่สำคัญ ถ้าตำรวจจะจัดการจราจรให้ผิดไปจากป้ายและเครื่องหมายราชการ สามารถทำได้ตามความจำเป็นชั่วขณะ เช่น เพื่อความปลอดภัย หรือเกิดอุบัติเหตุ แต่ตำรวจต้องยืนกำกับควบคุมด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น"

 

แต่ที่ผ่านมาตำรวจพยายามกลบเกลื่อนเบี่ยงเบนให้เป็นปัญหาจัดการจราจร หวังดีเปิดช่องทางเดินรถพิเศษเฉพาะเวลาเพื่อแก้ปัญหาจราจร ทั้งที่โดยหลักการไม่ควรทำโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจาก กทม. และจัดทำระบบสัญญาณอย่างเป็นมาตรฐานตามหลักวิศวกรรมจราจร เพราะอันตรายมาก และเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมากมาย โดยคดีส่วนใหญ่จบไปแบบมั่วๆ ไม่รู้ว่าใครผิด  แถมป้ายจราจรต่างๆ หลายๆ ที่ ตำรวจก็จ้างร้านทำเอง หรือขอให้ร้านค้าช่วยทำ แล้วนำไปติด ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น" อดีตรองจเรตำรวจ ระบุ