สภาเด็กฯยื่น"ครูหยุย"ปรับกม.พืชกระท่อม ห่วงมีสูตรผสมรูปแบบใหม่

13 ก.ย. 2564 | 07:58 น.

สภาเด็กฯผนึกเครือข่ายเยาวชนฯ ยื่น "ครูหยุย" ปรับร่างกฎหมายพืชกระท่อม ปกป้องเด็ก-เยาวชน ชี้ใช้ผิดเป็นยาเสพติดให้โทษได้ ชงห้ามขายเด็กต่ำกว่า 20 -คุมโฆษณา ไม่ปล่อยผ่านสูตรผสมมอมเมารูปแบบใหม่ๆในอนาคต

วันที่ 13 ก.ย. 64 ที่รัฐสภา นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง นายโยธิน  ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์  รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน และภาคีด้านเด็กและเยาวชน เข้ายื่นหนังสือถึง นายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชนสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. .... ในประเด็นปกป้องเด็ก เยาวชนและสังคมอย่างรอบด้าน

 

นายโยธิน กล่าวว่า จากกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ....โดยหลักการเหตุผลและสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการส่งเสริม และให้มีการพัฒนาเป็นพืชทางเศรษฐกิจ โดยร่างกำหนดมาตรการดูแล เฉพาะการนำเข้าและการส่งออกเท่านั้นที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน ส่วนการเพาะ การปลูก และการขายใบพืชกระท่อม นอกเหนือจากที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้ ให้ทำได้ ประชาชนสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ ทั้งนี้แม้ จะมีมาตรการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ด้วยการห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร และการห้ามโฆษณาใช้พืชกระท่อมเป็นส่วนผสมของยาเสพติด 4X100 แต่ยังขาดความรอบด้านในมิติการปกป้องเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง เราห่วงใยว่าในอนาคตน้ำกระท่อมจะไม่ใช่มีแค่4x100แต่จะมีพัฒนาการไปมากกว่านั้นแน่นนอน  ซึ่งอาจะเป็นส่วนผสมที่ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่ส่งผลให้เกิดอาการมึนเมา เสพติดได้

"มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าพืชกระท่อมยังสามารถเสพติดและมีผลกระทบได้ ถ้าใช้ไม่เหมาะสม จึงควรมีมาตรการควบคุม โดยเฉพาะธุรกิจที่มุ่งหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อเยาวชน และสังคมที่จะตามมา” นายโยธิน กล่าว

 

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อมฯ มุ่งการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นพืชทางเศรษฐกิจ แต่ยังขาดความรอบด้านในมิติการปกป้องเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง  จึงขอให้วุฒิสภาพิจารณาดังนี้ 1.ควรกำหนดห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อลดโอกาสการเข้าถึง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่แม้จะไม่ใช่สินค้าที่ผิดกฎหมาย แต่มีโอกาสที่เกิดผลกระทบต่อตัวผู้บริโภคและสังคมส่วนรวม 2.ควรกำหนดให้สถานศึกษา เป็นสถานที่ห้ามบริโภคน้ำต้มใบกระท่อม รวมถึงกิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่สถานศึกษาอนุญาตให้จัด เช่น กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมค่าย กิจกรรมทัศนศึกษา กิจกรรมกีฬาสี หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน นักศึกษา3. ควรเปิดช่องให้สามารถออกอนุบัญญัติใหม่ๆ เพื่อควบคุมการขาย/การบริโภคที่อาจมีพัฒนาการส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนมากขึ้นในอนาคต และ4. ควรควบคุมการโฆษณาหรือการทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อม หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดไม่ให้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน

“ขอให้ภาครัฐเร่งสื่อสาร ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจถึงผลกระทบในทางสุขภาพ หากใช้อย่างไม่เหมาะสมถูกต้อง และความผิดที่คงอยู่ตามกฎหมาย เนื่องจากยังพบว่าเยาวชนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าน้ำต้มใบกระท่อมผสมสูตรต่างๆ สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย  จึงบริโภคกันแพร่หลายทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงยังผิดกฎหมายอยู่หากมีส่วนผสมของสิ่งเสพติดหรือยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และที่น่าห่วงคือการไปคิดค้นสูตรใหม่ๆ มาต้มผสมเพื่อไปบริโภค ซึ่งน่ากังวลว่าอาจจะนำไปสู่สูตรที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง ดังนั้นในข้อกฎหมายวุฒิสภาพิจารณาประเด็นนี้ด้วย” นายณัฐพงศ์ กล่าว

 

ด้านนายวัลลภ  กล่าวว่า ต้องขอบคุณน้องๆเครือข่ายเยาวชนฯ ที่ห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว จากนี้จะนำเข้าหารือในที่ประชุมกรรมธิการฯ ต่อไป