“ภูมิใจไทย”ลากผู้บริหาร สธ.โต้ปมจัดซื้อ“วัคซีนซิโนแวค”ไม่มีเงินทอน

31 ส.ค. 2564 | 12:45 น.

พรรคภูมิใจไทย ลาก “ผู้บริหาร สธ.” โต้ปมจัดซื้อ “วัคซีนซิโนแวค” ไม่มีเงินทอน ขอร้องอย่าด้อยค่าวัคซีน ชี้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันประชาชนลดป่วยหนัก และตาย

วันนี้(31 ส.ค.64) ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย นำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงชี้แจงถึงกรณีฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ในสภาฯ

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยนำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ขณะนั้นวัคซีนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ พบว่าวัคซีนสามารถลดการระบาดของโรคได้ และพบว่าวัคซีนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคที่ระดับ 70-80% ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันโรคโควิดได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนไฟเซอร์ก็ตาม

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็มีการพัฒนาสูตรฉีดวัคซีนที่เรียกว่า สูตรไขว้ โดยใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มหนึ่งและวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มสอง และพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาสองเข็ม แต่ข้อดีคือฉีดได้เร็วขึ้นและภูมิคุ้มกันมากขึ้น

 

ฉะนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ นักวิชาการจากหลายที่มีหลักฐานยืนยันตรงกันว่าวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคกับแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพ จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคพยายามจัดหาวัคซีนที่ค้นหาได้มาให้กับประชาชนอย่างทันเวลา

นพ.โอภาส ชี้แจงว่า องค์การอนามัยโลกขณะนี้ก็ได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวนหลายร้อยล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วโลก จึงเป็นตัวยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงต้นการระบาดที่ผ่านมา แม้ขณะนี้จะมีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งทำให้วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพลดน้อยลง แต่เราก็ยังหาวิธีการฉีดวัคซีนแบบไขว้ที่ทำให้ประชาชนได้รับภูมิคุ้มกันที่รวดเร็วขึ้น

 

ยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ ขอความกรุณาอย่าด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค เพราะวัคซีนตัวนี้ช่วยเราตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราดูแลการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี และจะพยายามเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฉะนั้นข้อกล่าวอ้างที่บอกว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายจึงไม่เป็นความจริง

 

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.อภิปรายว่า องค์การเภสัชกรรม เป็นนายหน้าขายวัคซีนให้กับบริษัทซิโนแวค ในช่วงการแพร่ระบาดตอนแรก องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อโดยตรง แต่เป็นบริษัทลูกแห่งหนึ่งทำหน้าที่ แต่ทางการจีนไม่ยอม จึงเป็นเหตุให้องค์การเภสัชกรรม ต้องไปติดต่อเอง

 

โดยก่อนหน้านี้ได้เป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนคู่ประสาน ทั้งวัคซีนซิโนฟาร์ม และซิโนแวค ซึ่งซิโนฟาร์มติดขัดปัญหามาก แต่ว่าซิโนแวคมีความยืดหยุ่นกว่า เราจึงต้องทำงานแข่งกับเวลา จึงเลือกซิโนแวคเพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนระหว่างรอวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ส่วนเรื่องราคามีการนำเข้า 16 ช่วง ซึ่งจะมีราคาที่แตกต่างกันไปแต่ละช่วง ตั้งแต่ 17 เหรียญดอลล่าร์ต่อโดส แต่ในเวลาต่อมาเราก็ซื้อในราคาถูกเป็นลำดับ เพราะมีการต่อรองราคา จนมาถึงราคาสุดท้าย 8.9 เหรียญดอลล่า เฉลี่ยราคา 11.99 เหรียญดอลล่าร์

 

ส่วนที่มีการอภิปรายว่ามีส่วนต่างจำนวนมาก ขอชี้แจงว่า มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะเราได้ใช้เงินองค์การเภสัชฯ จัดซื้อไปก่อนจำนวนหลายพันล้าน จากนั้นเมื่อได้ของแล้ว ก็กำหนดราคาขาย ซึ่งเราต้องแบกรับอัตราแลกเปลี่ยน ยืนยันว่า ไม่มีส่วนต่าง กรอบการอนุมัติเป็นการขอเผื่อไว้ แต่เมื่อมีการเรียกเก็บก็เก็บราคาตามจริง โดยบวกค่าดำเนินการ ค่าขนส่ง 2-4% และส่วนต่างที่เหลือไม่มีใครได้แน่นอน 100% ซึ่งงบประมาณตรงนี้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแล และมีการเบิกจ่ายตามจริง

 

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ได้ทำการสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2563 เดือนพฤศจิกายน ดังนั้น สัญญาการจองซื้อต้องอยู่ในเงื่อนไข ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องใช้สัญญาในลักษณะเดียวกัน และมีโอกาสไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนในช้า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา และอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ

 

“ไม่ใช่เหมือนการซื้อสินค้าทั่วไป ที่มีความไม่แน่นอนในการวิจัยและพัฒนาการผลิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขทุกประเทศ และทุกคนต้องรับความเสี่ยงร่วมกันในระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เนื่องจากไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จะเอาพื้นฐานความเข้าใจแบบเดิมมาใช้ในการตัดสินในสัญญาการจัดซื้อล่วงหน้า จะไม่เหมาะสมและไม่เข้ากับสถานการณ์”

 

การเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) นั้น มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 139 ประเทศ แต่มีการแจกวัคซีนเพียง 224 ล้านโดส จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศได้รับวัคซีนไม่มาก การที่เราจัดซื้อวัคซีนโดยตรงทำให้เราได้รับวัคซีนมากกว่า และมีความแน่นอนมากกว่า ซึ่งตอนนี้เราได้รับวัคซีนและฉีดให้ประชาชนไปแล้ว 30 ล้านโดส

 

ถ้าเราเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อาจจะไม่มีความแน่นอนในการได้รับวัคซีน และอาจได้รับวัคซีนที่น้อย เพราะเป็นการจัดหาโดยโครงการขนาดใหญ่ มีประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก และหากไทยเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจัดซื้อ เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าถ้าเราจัดซื้อเองจากผู้ผลิตวัคซีนจะมีความแน่นอนกว่า จึงเป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง แต่ในอนาคตหากสถานการณ์เปลี่ยนไป ประเทศไทยอาจจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการก็ได้