“องค์การเภสัชฯ”ปัดเป็นตัวแทนจำหน่าย“วัคซีนซิโนแวค”จัดซื้อตาม มติ ครม.

27 ส.ค. 2564 | 07:10 น.

“องค์การเภสัชกรรม”แจงจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ตามความต้องการของกรมควบคุมโรค สอดคล้อง มติ ครม.ให้นําเข้าและขึ้นทะเบียนได้ เพื่อกระจายให้หน่วยบริการ เร่งฉีดให้ประชาชนฟรี โดยไม่ได้เป็นตัวแทนจําหน่ายแต่อย่างใด

นายยุทธนา ตันติพาณิชย์ ผู้อํานวยการกองประชาสัมพันธ์ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกขององค์การเภสัชกรรม ส่งถึงนายบากบั่น บุญเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด ระบุว่า

 

ตามที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ประชาชาติ ได้กล่าวอภิปรายในสภาฯ รวมถึงได้โพสต์เฟซบุ๊ก ในประเด็น “องค์การเภสัชกรรม” เป็นผู้แทนการขายให้บริษัทผู้ผลิต “วัคซีนซิโนแวค” น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรมองค์การเภสัชกรรม และความตอนหนึ่งว่า การที่รัฐบาล ยอมให้ “องค์การเภสัชกรรม” เป็นตัวแทนของบริษัทยาเอกชนจากประเทศจีน ให้บริการวัคซีนที่มีคุณภาพด้อยที่สุด เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม

 

ทั้งนี้เพราะองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 มีวัตถุประสงค์ผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องคํานึงถึงประโยชน์ของรัฐและ ประชาชน (มาตรา 31) หน้าที่หลัก คือ การเตรียมความพร้อมทางด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการ ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆใน ราคาที่เป็นธรรมโดยไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหากําไรใดๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดวิกฤติและฉุกเฉิน เงินที่นําไปซื้อวัคซีนเป็นภาษีประชาชน ต้องนําไปซื้อสิ่งที่ดีที่สุด เท่าที่ทําได้ให้ประชาชนมีความคุ้มค่า มีการใช้จ่ายอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

องค์การเภสัชกรรมขอเรียนชี้แจงว่า “องค์การเภสัชกรรมไม่ได้ เป็นตัวแทนของบริษัทยาเอกชนจากประเทศจีน” ตามที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้กล่าวไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

องค์การเภสัชกรรมดําเนินการจัดหาวัคซีนซิโนแวค ตามที่กรมควบคุมโรค แจ้งความต้องการมา และเป็นไป ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบกรอบและวงเงินในการจัดหาตามที่กระทรวงสาธารณสุขนําเสนอ ซึ่งวัคซีนโนแวคเป็นหนึ่งในห้าชนิดของวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ที่ภาครัฐมีนโยบายในการจัดหาและนําเข้ามาฉีดให้กับประชาชนฟรี และเมื่อย้อนไปดูมติครม.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ได้เห็นชอบให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด -19 เพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 โดยมีวัคซีน Astra Zeneca เป็นวัคซีนหลัก และให้มีการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม

 

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณาความเร่งด่วนเพื่อให้ได้มีวัคซีนมาฉีดในช่วงต้นปี 2564 จึงได้เจรจาซื้อวัคซีนซิโนแวคกับบริษัท Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People's Republic of China ซึ่ง เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่สามารถส่งให้ประเทศไทยอย่างเร่งด่วนได้ ภายในช่วงต้นปี 2564 จํานวน 2 ล้านโดส

 

องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นตัวแทนภาครัฐ ในการเป็นผู้นําเข้าและยื่นขึ้นทะเบียน วัคซีนซิโนแวค จากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้ในประเทศไทยได้ในภาวะฉุกเฉิน (Ermergency use) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งวัคซีนซิโนแวคทั้งหมดที่องค์การฯ นําเข้า ได้ส่งให้กรมควบคุมโรคจัดสรรและกระจายให้หน่วยบริการต่างๆ ฉีดฟรีให้กับประชาชน

 

โดยองค์การฯ ไม่ได้จําหน่ายโดยทั่วไป และไม่ได้เป็นตัวแทนจําหน่ายแต่อย่างใด เนื่องจากนําเข้าวัคซีนในช่วงเวลานี้ เป็นการนําเข้าเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้นําเข้าเพื่อการพาณิชย์ องค์การฯ จึงไม่ได้เป็นตัวแทนจําหน่าย 

วัคซีนซิโนแวคล็อตแรกนําเข้ามาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และนําเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนการควบคุมและป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข นับถึงปัจจุบัน(24 ส.ค.64) ได้มีการนําเข้าวัคซีน ซิโนแวค แล้วจํานวน 19.5 ล้านโดส และเมื่อรวมที่ประเทศจีนบริจาคให้อีกจํานวน 1 ล้านโดส จึงรวมเป็นทั้งสิ้น 20.5 ล้านโดส 

 

องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 คือ ผลิตยา และเวชภัณฑ์ ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัย การผลิต การวิเคราะห์ ยาและเวชภัณฑ์ วัตถุดิบ ดําเนินการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งยาและเวชภัณฑ์ ดําเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยาและเวชภัณฑ์ 

 

นอกจากนั้นองค์การเภสัชกรรมดําเนินงานภายใต้ วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและ เวชภัณฑ์ของประเทศที่มีนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและยั่งยืน” และได้ปฏิบัติภารกิจให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ เน้นย้ำในการทําหน้าที่เชิงสังคมให้มากยิ่งขึ้นในเรื่อง ผลิต จําหน่าย และบริการยาและเวชภัณฑ์ ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ผลิตยาที่จําเป็นและสํารองยาในยามฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงของชาติ

 

รวมถึงยาที่มีความจําเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ดําเนินธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในอาเซียนและสามารถพึ่งตนเองได้และมีธรรมาภิบาล รักษา ระดับราคายาและเวชภัณฑ์ที่จําเป็นต่อสังคมไทยเพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมทางยาและ เวชภัณฑ์ใหม่ๆรวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อตอบสนองความต้องการ และความจําเป็นต่อสังคมไทย 

 

“องค์การเภสัชกรรมของเรายึดมั่น มุ่งเน้น ดําเนินภารกิจเชิงสังคม เพื่อสร้างการเข้าถึงยา วัคซีนและ เวชภัณฑ์ ให้แก่ระบบสาธารณสุขไทย ทั้งในยามปกติ และภาวะวิกฤติ ภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้ประเทศมีความ เข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืน”