“ภูมิใจไทย”เล็งคว่ำแก้รธน.ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประกาศพรุ่งนี้

23 ส.ค. 2564 | 12:41 น.

"ภูมิใจไทย"ส่อคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เตรียมประกาศจุดยืน 24 ส.ค.นี้ ที่อาคารรัฐสภา

แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า จากกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวาระ 2 ในวันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ที่ประชุมพรรคภูมิใจไทย มีความห่วงกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานกมธ.นั้น จะเป็นการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาอย่างมากมาย ซึ่งการกระทำนั้นถึงขนาดทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ หรือประมวลจริยธรรมอย่างไร้แรง

 

ดังนั้น หากจะลงมติเห็นชอบไป สมาชิกเองก็สุ่มเสี่ยงจะกระทำผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดี ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ หากมีผู้ยื่น และเท่าที่ทราบว่าเรื่องนี้จะมีการยื่นถอดถอนหรือดำเนินคดีอย่างแน่นอน โดยพรรคภูมิใจไทย จะมีการแถลงท่าทีของพรรคต่อเรื่องดังกล่าวในวันที่ 24 ส.ค. เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา

ด้านท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ....  ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง)  วาระ 2  ที่คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  เป็นประธาน นั้น มีรายงานว่า ส.ว.มีการแบ่งความเห็นออกเป็น 2 ประเด็น

 

โดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของกมธ.ฯ ที่ปรับแก้ไขเนื้อหา เกินกว่าที่รับหลักการ โดยเฉพาะการเพิ่มบทเฉพาะกาล 2 มาตราว่าด้วยเงื่อนไขเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และมาตราที่ให้อำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจออกระเบียบเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ หากการตรากฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จหรือไม่สามารถดำเนินการ แต่มีการจัดการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปเกิดขึ้นก่อน

 

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ส.ส.มีความเป็นอิสระ  ไม่มีการชี้นำต่อการลงมติ ทั้งนี้การพิจารณาวาระสอง ซึ่งใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา ได้รับเสียงสนับสนุนและผ่านไปได้ แต่การลงมติวาระสาม ที่ต้องใช้เสียงส.ว. เห็นชอบด้วย 84 เสียงนั้น เชื่อว่าส.ว.จะพิจารณาอีกครั้งและเป็นไปโดยอิสระ ทั้งนี้ตนยอมรับว่ามีส.ว. ที่กังวลต่อการแก้ระบบเลือกตั้ง ที่อาจทำให้พรรคการเมืองใหญ่ชนะขาด สร้างผลกะทบต่อการถ่วงดุลในสภาฯ

 

“ส.ว.ยังไม่ตัดสินใจว่าจะไปซ้ายหรือขวา เพราะรอดูสถานการณ์ และบรรยากาศก่อน ทั้งนี้ยอมรับว่าเสียงของส.ส. ยังแตกกันหลายฝ่าย  เช่น พรรคภูมิใจไทยที่ไม่เอา เช่นเดียวกับ ส.ว.บางกลุ่มที่ไม่เอา เพาะมองว่าแก้ไขกฎหมายเกินเลย และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานให้แก้กฎหมายสำคัญอื่นๆ ที่เกินหลักการได้” นายวันชัย กล่าว

ส่วนนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวยอมรับถึงข้อกังวล ของส.ว. ต่อการแก้ไขเนื้อหาที่เกินหลักการจากร่างแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา ได้หารือ และทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของบังคับการประชุมข้อ 124  กำหนดชัดเจนว่า ถ้ามีเรื่องใด ที่เกินหลักการ และเกี่ยวเนื่อง สามารถทำได้ โดยต้องขออนุญาตต่อสภา 

 

“หลังการลงมติวาระสาม ผมเชื่อว่าจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญน  100% เพราะการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เป็นผลประโยชน์พรรคการเมือง และมีผู้เสียประโยชน์ของแต่ละพรรค” นายสมชาย กล่าว

 

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการฯ  กล่าวถึงการแก้ไขในส่วนบทเฉพาะกาลที่กมธ.เขียนเพิ่มเติมว่า ตนมีข้อกังวล เพราะมองว่าแม้กมธ.ฯ จะใช้อำนาจตามข้อบังคับรัฐสภา ข้อ 124 วรรสาม เป็นข้อยกเว้น แต่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดและอย่างแคบ รวมถึงทำที่จำเป็น เพื่อไม่ให้แก้ไขเนื้อหาที่ขัดแย้งหรือเกินกว่าหลักการ  ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลที่เพิ่มเติม 2 มาตรานั้น ตนไม่เห็นด้วย และยืนยันต่อการสงวนความเห็นที่จะอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา