ยื่น กกต.บี้พรรคสีส้ม แจกบัตรตรวจโควิดชื่อพรรค ร่วมกับหมอชนบท

23 ส.ค. 2564 | 04:30 น.

ศรีสุวรรณยื่น กกต.บี้พรรคก้าวไกล แจกบัตรตรวจโควิดชื่อพรรค อ้างทำงานร่วมกับหมอชนบท อาจเข้าข่ายความผิดตามรธน.60 การขัดกันแห่งผลประโยชน์


         วันนี้ 8 สิงหาคม 2562  ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องให้ไต่สวนสอบสวนพรรคก้าวไกล กรณีไปร่วมกิจกรรมกับชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่ได้ระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัด มาช่วยตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนกรุงเทพมหานคร แต่กลับปรากฏว่ามีการจัดทำบัตรคิวสีส้มที่ปรากฏชื่อพรรค ถือว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคและแซกแทรงการทำงานของข้าราชการหรือไม่

 

  โครงการดังกล่าว เป็นการตรวจหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในชุมชนต่างๆ โดยใช้ชุดตรวจแบบเร่งด่วน หรือ Antigen Test Kits ที่สามารถรู้ผลได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพบเชื้อก็จะแยกกักและรักษาตัวที่บ้าน ด้วยการทำ Home Isolation แต่หากสภาพบ้านที่อยู่อาศัยไม่เอื้อให้กักตัวได้ ก็ให้ทำการกักกันในชุมชน หรือ Community Isolation ซึ่งที่ผ่านมาผลการดำเนินการเป็นไปด้วยดี จนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อตกค้างตามบ้านและในชุมชนลดลง เป็นที่ชื่นชมของสาธารณชนทั่วไป

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

  แต่ทว่ากลับมีภาพปรากฎในลักษณะที่ประชาชนสงสัยและถูกนำมาแชร์กันมากในโลกออนไลน์ คือ ปรากฎว่ามีบางพรรคการเมืองเข้าไปใช้ชื่อของพรรคว่าทำงานร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท หรือเป็นผู้ที่นำแพทย์มาตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กับชาวบ้านเอง อาทิ การลงพื้นที่ตรวจโควิดใน "ชุมชนพหลโยธิน 24" ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีภาพบัตรคิวสีส้มที่แจกให้กับชาวบ้านที่มาเข้าคิวรอตรวจ ได้เขียนข้อความด้านบนว่า "หมอชนบทร่วมมือกับพรรคก้าวไกล ดูแลชุมชนพหลโยธิน 24" แนบอยู่กับเอกสารประกอบการตรวจหาเชื้อ ซึ่งแม็กติดกับบัตรคิวนั้น เป็นเอกสารที่มีโลโก้ของชมรมแพทย์ชนบทอยู่ด้านบนด้วย 

 

กรณีดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่า เป็นการแอบอ้างการทำงานของชมรมแพทย์ชนบท เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่ เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่ลงพื้นที่ทำงานของชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับ สปสช. นั้นเป็นข้าราชการ และอาจถือได้ว่าแพทย์ต่างๆเหล่านั้นใช้เวลาราชการไปทำภารกิจช่วยเหลือพรรคการเมือง ใช่หรือไม่ 

การกระทำดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ใน ม.184 และ ม.185 หรือไม่ ซึ่งบัญญัติห้ามนักการเมืองหรือพรรคการเมืองก้าวก่ายหรือแซกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจำของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับ พรป.พรรคการเมือง 2560 ม.28 กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ซึ่งหากเป็นความผิดมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองนั้น ตาม ม.92(3)


     

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้นำความพร้อมพยานหลักฐานมาร้องเรียนต่อ กกต.ในวันนี้ให้ดำเนินการไต่สวนสอบสวนพรรคก้าวไกลและหมอชนบท ว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด