อสส.เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้น “ผู้ตรวจอัยการ”

07 ส.ค. 2564 | 08:12 น.

อสส.เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ” ขึ้นนั่งผู้ตรวจการอัยการ หลังจบปมคดีเมาแล้วขับ อสส.ชี้ขาดไม่อุทธรณ์ คดียุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ด้านก.อ.เห็นว่าทำผิดวินัยเล็กน้อย ให้ลงโทษว่า กล่าวตักเตือน

วันนี้( 7 ส.ค.64)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด(อสส.) ได้มีหนังสือถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ลงวันที่ 2 ส.ค. ความว่าในการประชุม ก.อ. ครั้งที่ 9/2563วันที่ 9 ก.ย.63ได้มีมติให้ความเห็นชอบในการเลื่อน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป

 

แต่เนื่องจากนายปรเมศวร์ ผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีขับรถยนต์ในขณะมึนเมาเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงเสนอ ก.อ. เพื่อขอชะลอการเสนอขอนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการอัยการราย นายปรเมศวร์ จนกว่าจะได้ข้อยุติที่ชัดเจนความละเอียดแจ้งแล้วนั้น 

 

บัดนี้การดำเนินคดีอาญากับนายปรเมศวร์ ถึงที่สุดแล้ว แต่การที่นายปรเมศวร์ ถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับคดีจราจร กรณีขับรถยนต์ในขณะมึนเมาเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางวินัยกรณีเป็นข้าราชการอัยการ กระทำผิดอาญาหรือกระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553

 

อัยการสูงสุดจึงได้มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1139/2564 ลงวันที่ 29 มิ.ย.64 มอบหมายให้ นายสนทรรศ สิงหพัศ รองอัยการสูงสุด ทำการสอบสวนโดยนายสนทรรศ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายปรเมศวร์ เป็นการกระทำความผิดวินัยเล็กน้อยเห็นควรให้งดโทษ โดยให้ว่ากล่าวตักเตือน

 

และอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วโดยรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ประกอบเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 7/2574 เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64

 

อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งว่า เป็นการกระทำความผิดวินัยเล็กน้อยให้งดโทษโดยให้ว่ากล่าวตักเตือนตามนัยความเห็นของ ก.อ.ดังกล่าว และได้เสนอให้ ก.อ.พิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับคดีจราจร และการสอบสวนขั้นต้นในกรณีข้าราชการอัยการกระทำผิดอาญาดังกล่าวได้สิ้นสุดแล้ว และเห็นควรนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแต่งตั้ง นายปรเมศวร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป
    

โดยท้ายหนังสือ ระบุว่า ตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 บัญญัติว่า การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งนอกจากตำแหน่งอัยการผู้ช่วยอัยการอาวุโส รองอัยการสูงสุด และตำแหน่งอัยการสูงสุด ให้ประธาน ก.อ. เสนอ ก.อ.

 

โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบประวัติการปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น เทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการ ที่จะได้รับแต่งตั้งนั้น ๆ เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน

 

เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สำนักงานอัยการสูงสุด จึงขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานเลขาฯครม.พิจารณา ซึ่งหากมีโปรดเกล้าฯนายปรเมศวร์ เป็นผู้ตรวจการอัยการลงมา ในช่วงการเเต่งตั้งโยกย้ายปีงบประมาณใหม่ คิวของนายปรเมศวร์ จะขึ้นนั่งรองอัยการสูงสุด

 

สำหรับคดีนายปรเมศวร์ ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำ พิพากษาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160ตรีวรรคสอง จำคุก 1 ปีและปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือนและปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน 

 

ประกอบกับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจ จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง
  

โดยคดีนี้เป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.รพีพงศ์ จิตต์บุญธรรม พนักงานสอบสวน กล่าวหา นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อายุ 62 ปี (ในขณะนั้น) ผู้ต้องหาในความผิด ฐานความผิดขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายจิตใจ, ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน, ขับรถเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายจิตใจ

 

กรณี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 เวลาประมาณ 22.30 น. ผู้ต้องหาได้ขับรถยนต์ยี่ห้อนิสสันทะเบียน 7 กส 2300 กรุงเทพฯ เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาวาซากิ รุ่นเคอาร์สีเขียว (ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน) มีนายธรรมรัตน์ ทองทวี เป็นผู้ขับขี่ และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้ารุ่นเวฟ 125 ไอ สีแดงดำ ทะเบียน 8 กร 6848 กรุงเทพฯ มีนายธันณเรศ ร้อยกรอง อายุ 21 ปี เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้นายธรรมรัตน์ได้รับบาดเจ็บและรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายและไม่หยุดลงมาช่วยเหลือ แต่มีพลเมืองดีติดตามไปทันที่บริเวณทางเข้าวัดหูช้าง

 

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึงจึงได้เชิญตัวมาที่ สภ.บางกรวย แล้วต่อมาได้ทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ 87 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เหตุเกิดถนนนครอินทร์ (ขาออก) หน้าปั๊มคาลเท็กซ์หมู่ 3 ต.บางขุนกอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

 

ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องเฉพาะในความผิดฐาน ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยสั่งไม่ฟ้องข้อหาชนเเล้วหนี ซึ่งตามขั้นตอนต้องส่งให้ทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พิจารณาทำความเห็นเเย้ง โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ทำความเห็นเเย้งมา

 

เเต่ต่อมาอัยการสูงสุด ชี้ขาดฟ้องตามความเห็นของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องข้อหาชนเเล้วหนี เเละจำเลยให้การรับสารภาพจนศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ซึ่งทางอัยการมีความเห็นไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี สำนวนจึงถูกส่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 มีความเห็นเเย้งให้ยื่นอุทธรณ์คดีขอให้ลงโทษสถานหนักต่อ ขั้นตอนต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดตามกฎหมาย ต่อมาอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดีต่อ จนคดียุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น