"กนก"อัดสำนักงบฯ ทำงานไม่ตอบโจทย์ภาวะวิกฤต แนะเว้นระเบียบที่เป็นอุปสรรค

28 ก.ค. 2564 | 06:20 น.

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยกกรณี สธ.ทวงงบ 6.8 พันล้าน สะท้อนการทำงานสำนักงบฯ ไม่ตอบโจทย์ภาวะวิกฤต ชี้ อนุมัติงบล่าช้าในยุคโรคระบาด เดินพันถึงชีวิตประชาชน แนะ ครม. ออกกติกายกเว้นระเบียบที่เป็นอุปสรรค

วันที่ 28 ก.ค. 2564  นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการเบิกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 6.8 พันล้านบาท จนมีการทำหนังสือทวงถามไปยังสำนักงบประมาณ และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะว่า เป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาระบบราชการและการปฏิบัติงานของข้าราชการที่รัฐบาลต้องนำมาทบทวน เพื่อปรับปรุงให้การอนุมัติงบประมาณในยามวิกฤต ให้สอดรับกับสถานการณ์ ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับระเบียบราชการ จนลืมนึกถึงชีวิตประชาชน 

 

ทั้งนี้ จากคำชี้แจงของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ระบุว่า “…เราไม่สามารถอนุมัติงบประมาณสำหรับการดูแลคนไข้ที่มากขึ้นได้ เพราะในระเบียบกำหนดว่าหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 1 คน ทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน ก็จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายหรือค่าล่วงเวลาให้ตามจำนวนเวลาที่ทำงาน แต่ไม่สามารถเบิกได้เพิ่มขึ้นหากหมอต้องดูแลคนไข้มากขึ้น” ยิ่งสะท้อนว่า สำนักงบประมาณยึดระเบียบราชการเป็นสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ คำถามที่เกิดขึ้นตามมา คือ สำนักงบประมาณคิดถึงความปลอดภัยของประชาชนบ้างหรือไม่ ซึ่ง ผอ.สำนักงบประมาณยืนยันชัดเจนว่า สำนักงบประมาณถือความถูกต้องของกระบวนการปฏิบัติงานตามระเบียบราชการมาก่อนผลลัพธ์ที่จะเกิดกับประชาชน

 นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายกนก กล่าวด้วยว่า การตอบโต้ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความไว้วางใจระหว่างส่วนราชการมีน้อย กรณีนี้คือสำนักงบประมาณไม่เชื่อเรื่องความถูกต้องของการขอเบิกงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเอกสารชี้แจงไม่ถูกต้องและครบถ้วนสำนักงบประมาณไม่สามารถที่จะอนุมัติการเบิกจ่ายนั้นได้ คำถามของประชาชนต่อเรื่องนี้คือ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไม่ได้อยู่ในความคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาของสำนักงบประมาณเลยหรือ ระเบียบราชการและกฎเกณฑ์ของการบริหารราชการเป็นเรื่องจำเป็น และถ้าออกแบบมาเพื่อใช้ในสถานการณ์ปกติทั่วไปที่เวลาหรือความรวดเร็วไม่ส่งผลต่อการแก้ปัญหา 

 

อย่างไรก็ตาม แต่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ความเร็วของการแก้ปัญหาสำคัญมากเพราะภายในระยะเวลาเพียง 15 วัน ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้มาก คำถามคือสำนักงบประมาณคิดถึงเรื่องความเร่งด่วนของการอนุมัติงบประมาณแค่ไหน ถ้ากฎระเบียบปัจจุบันเป็นอุปสรรคทำให้สำนักงบประมาณทำงานได้ล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์ ทำไมสำนักงบประมาณไม่หารือรัฐบาล เพื่อขอมติครม.ยกเว้นการใช้กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคนั้น

“ตัวอย่างกฎระเบียบการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายหรือค่าล่วงเวลาของแพทย์กำหนดตามชั่วโมงการทำงานในสถานการณ์ปกติกฎระเบียบนี้ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในสถานการณ์วิกฤติขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยมากมหาศาลความเร็วของการตรวจผู้ป่วยสร้างแรงกดดันต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก สำนักงบประมาณไม่คิดที่จะปรับกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าล่วงเวลาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์วิกฤตนี้บ้างเลยหรือผมนำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาอธิบาย เพื่อตั้งประเด็นเกี่ยวกับระบบราชการและการปฏิบัติราชการของข้าราชการที่ตามไม่ทันสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 เหมือนเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่ทนไม่ไหวกับระเบียบราชการ จึงออกมาพูดว่า

 

“ถ้าระเบียบทำให้ประชาชนต้องตายโปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น ผมมั่นใจว่าสำนักงบประมาณมีคนเก่งจำนวนมากที่จะเสนอแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และสร้างปัญหาความล่าช้าได้ในเวลาอันสั้น ผมเชื่อว่าถ้าข้าราชการประจำ มีใจอยู่กับประชาชนและยึดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ประเทศไทยไม่เพียงแต่จะผ่านวิกฤตโควิด 19 ไปได้ แต่ยังจะเจริญก้าวหน้าอีกมาก” นายกนก กล่าว