“คดีโกงสหกรณ์คลองจั่นหมื่นล้าน”ศาลยกฟ้อง“ศุภชัย-พวกรวม 12 คน” 

30 มิ.ย. 2564 | 09:15 น.

ศาลอาญายกฟ้อง “คดีโกงสหกรณ์คลองจั่นหมื่นล้าน” ที่มี “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” กับพวกรวม 12 คน ตกเป็นผู้ต้องหา เผยฟ้องซ้ำ-หลักฐานอ่อน อัยการยังอุทธรณ์ได้ต่อ

วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงสหกรณ์ฯยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด หมายเลขดำอ.3339/2559 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 64 ปี อดีตประธานบริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัด ตั้งแต่ปี 2551-2554 กับพวกรวม 12 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน    

คดีนี้ อัยการโจทก์บรรยายคำฟ้อง สรุปว่า ระหว่างเดือน ม.ค. 2551-ธ.ค.2555 พวกจำเลยร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นหรือประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้ แจ้งแก่ประชาชน ด้วยวิธีการต่างๆ เป็นขั้นตอน ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ และร่วมรู้เห็นการกระทำผิดต่างๆ ร่วมกัน โดยเจตนาทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองและผู้อื่น

พวกจำเลยได้บังอาจร่วมกันจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน ระหว่าง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (ผู้ให้กู้) กับ สมาชิกสมทบ (ผู้กู้)  ซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ได้ถือหุ้นในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำนวน 28 ราย รวมเป็นเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน จำนวนทั้งสิ้น 11,858,440,000 บาท โดยไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง และร่วมกันทำการบันทึกรายการทางการเงิน อันเป็นเท็จ ในการบันทึกรายการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยรับ จากลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ สมาชิกสมทบ โดยไม่มีการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษสมาชิก สมทบจริง และบันทึกจ่ายเงินให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ โดยไม่มีการจ่ายเงินที่กู้ยืมออกจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จริง 

ทั้งยังร่วมกันจัดทำใบสำคัญรับชำระเงินลูกหนี้ทดลองจ่ายให้แก่นายศุภชัยจำเลยที่ 1 อันเป็นเท็จ และร่วมกันจัดทำใบสำคัญจ่ายเงินจำเลยที่ 1 อันเป็นเท็จ ร่วมกันทำการบันทึกรายการเกี่ยวกับการจ่ายเงินสดให้ลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมเงินและการจ่ายเงินจริง

การทำสัญญากู้ยืมเงินเท็จดังกล่าวข้างต้น เพื่อปกปิดการทุจริต หรือการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด หรือ นำมาปรับโครงสร้างหนี้และเพื่อตกแต่งบัญชีของสหกรณ์ฯ ให้ปรากฏเป็นเท็จว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ มีผลประกอบกิจการ ที่มีผลกำไรสุทธิ โดยทำให้ปรากฏในงบการเงิน และงบดุลของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ  โดยนำงบกำไรสุทธิไปแสดงในรายงานประจำปี พ.ศ.2552-2555 

ทั้งที่ความจริงแล้ว การดำเนินการของสหกรณ์เครดิตฯ มีผลประกอบการขาดทุนจำนวนมากตลอดมา เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 341, 343 และให้พวกจำเลยทั้งหมดร่วมกัน คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ละราย จำนวน  2,254 รายด้วย

                                                             ศุภชัย ศรีศุภอักษร

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเห็นว่า จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เคยถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำ อ.1260/2561 และ อ.235/2562 ของศาลอาญา ในความผิดฉ้อโกงประชาชนเช่นเดียวกันกับคดีนี้ โดยโจทก์บรรยายฟ้องเหมือนกันว่า สหกรณ์ฯ มีนายศุภชัยในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานฯ ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และยังร่วมกันบันทึกรายงานทางการเงินอันเป็นเท็จ รวมทั้งทำสัญญากู้ยืมเงินเท็จเพื่อปกปิดการทุจริต หรือการเบิกจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของสหกรณ์ฯ ซึ่งเหตุกระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างปี 2552-2556 โดย คดีหมายเลขดำ อ.1260/2561 และ อ.235/2562 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว เมื่อปี 2563 

ดังนั้น เมื่อฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 คดีนี้ ซึ่งเป็นการอ้างกระทำความผิดในคราวเดียวกันกับ 2 คดี ที่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ได้มีคำพิพากษาไปแล้ว โดยสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.39(4)

สำหรับจำเลยที่ 2-12 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2-12 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลเห็นว่า ในส่วนของพยานซึ่งเป็นพนักงานของสหกรณ์โจทก์ร่วมได้เบิกความเพียงโครงส่ราง และขั้นตอนการทำงานของโจทก์ร่วมเท่านั้น ขณะที่พยานกลุ่มอื่นที่โจทก์ร่วมนำมาสืบ ก็ไม่ได้นำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 2-12 ว่ากระทำการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการฉ้อโกงประชาชนอย่างไร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2-12 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงประชาชนตามฟ้อง

ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ นายจ้าง ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอมนั้น โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1, 3, 7,11 ว่า ร่วมกันเอาเงินของสหกรณ์ฯ โจทก์ร่วม ไปประมาณหมื่นล้านบาทเศษ โดยใช้วิธีร่วมกันสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีธนาคารของสหกรณ์ฯ แล้วนำไปเบิกโดยทุจริต และจำเลยทั้ง 4 จัดทำเอกสารทางการเงินเพื่อไม่ให้ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ฯ ตรวจพบพิรุธ ซึ่งกระทำผิดในช่วงเดือน ม.ค.2552 - พ.ค.2555 ศาลเห็นว่า จำเลยทั้ง 4 ที่ถูกฟ้องนั้น ก็ได้ถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ซึ่งระยะเวลาการกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นระยะเวลาที่ทับซ้อนกัน และยังบรรยายฟ้องเกี่ยวกับพฤติการณ์การตกแต่งบัญชีของสหกรณ์ฯ เพื่อปกปิดการทุจริต และนำเอาเงินของสหกรณ์ฯ ไป 

กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ซ้ำกัน เพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดที่ฟ้องใหม่เป็นฐานร่วมกันลักทรัพย์เท่านั้น การกระทำความผิดคราวเดียวกันควรได้รับโทษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อศาลได้วินิจฉัยพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 4 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนไปแล้ว จึงไม่วินิจฉัยความผิดดังกล่าวให้ซ้ำซ้อนกันอีก จึงพิพากษายกฟ้อง

                                                                        +++

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 12 คนนั้น ประกอบด้วย นายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำเลยที่ 1, นายมณฑล กันล้อม จำเลยที่ 2 อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ปี 55, นายลภัส โสมคำ จำเลยที่ 3 อดีตคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ปี 51-53, นางทองพิน กันล้อม จำเลยที่ 4 อดีตคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ปี51, นายณัฐวัฒน์ ปิยพัชร์เมธี จำเลยที่ 5 อดีตผู้จัดการสหกรณ์ฯ ปี 52-53, นายอารีย์ แย้มบุญยิ่ง จำเลยที่ 6 อดีตผู้จัดการสหกรณ์ปี 54-55, น.ส.ศรัณยา มานหมัด จำเลยที่ 7 อดีตรองผู้จัดการสหกรณ์ฯปี 52-55

น.ส.วาริศา เอกชัยจินดาวัฒน์ จำเลยที่ 8 อดีตเลขานุการ ของนายศุภชัย, นางจันทร์ฉาย ขันธะหัตถ์ จำเลยที่ 9 อดีตเจ้าหน้าที่การเงินฝ่ายสหกรณ์ฯ, นายธนากร น่าบัณฑิต จำเลยที่ 10 อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อสหกรณ์ฯ, นายกฤษฎา มีบุญมาก จำเลยที่ 11 อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อสหกรณ์ฯ, นางวันเพ็ญ ยอดดี จำเลยที่ 12 อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินสหกรณ์ฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อไป 

โดยคดีที่ฟ้อง นายศุภชัย กับพวก เกี่ยวกับการยักยอกและฉ้อโกงสหกรณ์ฯ คลองจั่น นั้น ศาลเคยมีคำพิพากษาจำคุก นายศุภชัย ไปก่อนหน้านี้หลายสำนวน โดยมีสำนวนที่ถึงที่สิ้นสุดแล้วด้วย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :