“ชาญชัย”จี้นายกฯเอาผิดบอร์ดทอท.-ทวงเงินคิงพาวเวอร์ 1.4 หมื่นล้าน

21 พ.ค. 2564 | 10:48 น.

“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์”ยื่นหนังสือถึง “นายกฯ”รอบ 3 จี้เอาผิด“บอร์ดทอท.” และ “ทวงเงินคิงพาวเวอร์ 1.4 หมื่นล้าน”  คืนแผ่นดินมาใช้แก้วิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดหนัก

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ติดตามผลการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมในการทุจริตภายในบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

ทั้งนี้ หนังสือร้องเรียนได้ระบุถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401-1402/2563 ลงวันที่ 16 ก.ย.2563 คดีระหว่าง บริษัทคิง เพาเวอร์ จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน โจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เป็นจำเลยต่อศาล ในข้อหาหรือฐาน ความผิด หมิ่นประมาท ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษา สรุปได้ 5 เรื่อง ได้แก่

1.ประเด็นเรื่องสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค, สัญญาการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “…เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 จึงไม่มีผลผูกพัน” คำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ 27-29

2.ประเด็นเรื่องกลุ่มคิงเพาเวอร์ไม่ได้ติดตั้งระบบ Point of sale หรือ POS โดยสัญญาระบุว่าผู้รับอนุญาตจะต้องนำส่งข้อมูลและรายได้ของโครงการแก่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แต่คำพิพากษาระบุว่า “สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่ายังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการขายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องได้ โดยมีเอการหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า เพิ่งมีการเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ POS เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เท่านั้น” คำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ 30

3.ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา สืบเนื่องจากโจทก์ที่ 1 บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในอัตราร้อยละ 15 ของราคาสินค้าที่ขายได้ ทั้งนี้ โจทก์ที่ 1 ได้ให้โจทก์ที่ 3 บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ดำเนินการแทน ดังนี้ โจทก์ที่ 3 จึงมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1
แต่ปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ตั้งร้านค้าปลอดอากรขึ้นที่ถนนรางน้ำ โดยมีจุดส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำนวน 2 จุด ต่อมาโจทก์ที่ 1 ให้ บริษัทคิง เพาเวอร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ไปขออนุญาตตั้งจุดส่งมอบสินค้าใสจุดเดียวกัน ซึ่งต้องถือว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นตัวแทนโจทก์ที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าโจทก์ที่ 3 จ่ายค่าตอบแทนให้ร้อยละ 15 ของร้อยละ 3 ของค่าบริการที่บริษัท คิง เพาเวอร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้รับจากโจทก์ที่ 1 ในการนำสินค้าจากถนนรางน้ำไปส่งยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงเป็นการผิดสัญญา คำพิพากษาของศาลฎีกา หน้า 31-32
 

4.ประเด็นเรื่องการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าไม่เกินร้อยละ 20 ของรายได้ของร้านค้า ซึ่งเป็นข้อตกลงตามสัญญาที่โจทก์ที่ 3 (บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด) ทำกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 

แต่ในการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การดำเนินงานตามสัญญาของบริษัท กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ตามเอกสารหมาย ล.29 ตรวจพบว่า โจทก์ที่ 3 เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการ ซึ่งค่าสิทธิดังกล่าวตามสัญญาบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีข้อตกลงให้เรียกเก็บแต่อย่างใด แต่โจทก์ที่ 3 เรียกเก็บจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการรวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท และเรียกเก็บจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการรวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญา 

5.ประเด็นเรื่องการผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมประชุม เนื่องจากคณะกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการประชุมกันเป็นการภายในแต่กลับมีการเชิญตัวแทน บริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด มาร่วมในการประชุมด้วย เพื่อร่วมเสนอแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูล ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับทราบข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น จนในที่สุดโจทก์ที่ 1 ก็ชนะการประมูล 

“จากคำพิพากษาดังกล่าว ถึงแม้ข้าฯ (นายชาญชัย) ไม่ใช้ผู้เสียหายที่มีสิทธิ ดำเนินคดีได้ แต่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามฟ้องยังคงอยู่ และความเสียหายยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันประมาณ 14,290 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวมาบรรเทาวิกฤติการณ์โควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศ

ดังนี้ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เป็นความเสียหายต่อส่วนรวมในฐานะที่หน่วยงานรัฐ (กระทรวงการคลัง) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ทอท. เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเท่ากับประเทศชาติได้รับความเสียหาย ข้าฯ ในฐานะประชาชนชาวไทยจึงมีสิทธิโดยชอบที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ” หนังสือร้องเรียนระบุ

นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์ว่า การยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้ เป็นการยื่นหนังสือครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งตนขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ติดตามดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมในการทุจริตเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสัญญาและการบริหารสัญญาสัมปทานในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคของ ทอท.ในช่วงปี 2548-2559 ได้แก่ สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์

“เฉพาะกรณีที่ ทอท.เก็บเงินค่าตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาไม่ครบถ้วนตามสัญญา (สัญญาบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์) ฉบับเก่า โดยสัญญากำหนดให้ ทอท. ต้องเรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้ 15% จากการขายสินค้า แต่ปรากฏว่า ทอท.เก็บเพียง 3% ทำให้รัฐเสียหาย 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้เงินที่รัฐควรจะได้ ก็ไม่ได้ และคนที่ทำความผิดก็ยังไม่ถูกลงโทษ”

นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังนิ่งเฉย ตนเองจะฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ส่วนความคืบหน้ากรณียื่นฟ้อง นายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานบอร์ด ทอท. กับพวก รวม 14 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานพื้นที่ดิวตี้ฟรี และสัมปทานการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 5 ฉบับ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อกฎหมายหลายฉบับนั้น นายชาญชัย ระบุว่า ศาลฯ เลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไปอีก 1 เดือน เนื่องจากศาลฯ ได้ให้ตนเองไปแก้ไขคำฟ้องให้ครบถ้วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :