“อันวาร์ สาและ”เตือนรัฐยื้อเวลาจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” ดอกเบี้ยบาน

23 เม.ย. 2564 | 11:28 น.

“อันวาร์ สาและ”เตือนรัฐยื้อเวลาจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” ดอกเบี้ยบาน ข้องใจหาช่องทางล้มคำตัดสิน มีเจตนาอะไร และเกิดประโยชน์กับใคร

นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้านเตือนรัฐบาล อย่าคิดรื้อฟื้นคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” หวั่นซ้ำรอยเหมืองทองอัครา ว่า ตนเห็นด้วย เพราะเรื่องนี้มีการเสนอญัตตินำเข้ามาพิจารณาในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ที่ตนนั่งเป็นประธานอยู่ จึงได้มีโอกาสรับฟังคำชี้แจง จากเจ้าหน้าที่การรถไฟ โดยอ้างว่าเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมมือกระทำความผิด ซึ่งศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเรื่องนี้ก็ควรจะจบ แต่เจ้าหน้าที่การรถไฟ ก็พยายามเปิดประเด็นใหม่ๆ แต่สุดท้ายก็ตอบคำถามจากคณะกรรมาธิการไม่ได้

“ผมจึงเห็นว่า สิ่งที่คุณสุทิน คลังแสง ให้สัมภาษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลพยายามยื้อเวลา เพื่อหาช่องทางล้มคำตัดสิน ทั้งๆ ที่น่าจะคาดการณ์ได้ว่าจะจบอย่างไร แต่จะทำไปทำไม มีเจตนาอะไร และเกิดประโยชน์กับใคร” 

เพราะล่าสุดศาลปกครองกลาง ก็ได้พูดชัดเจนว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่า ศาลปกครองกลางจะกระทำโดยชอบ โดยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีผลให้ยกเลิกคำตัดสินของศาลปกครองที่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดได้ นั่นหมายความว่าถึงอย่างไรก็ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่คู่กรณี คือ บริษัทโฮปเวลล์ แต่ที่ยังดื้อดึงอยู่นั้น ท่านนายกฯ ควรตรวจสอบว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรหรือไม่ เพราะเงินที่จะต้องใช้ชดเชย ไม่ใช่เงินของผู้มีอำนาจ และต้องการยื้อเวลา แต่เป็นเงินภาษีของประชาชน ยิ่งจ่ายช้า ดอกเบี้ยก็ยิ่งทบมากขึ้นทุกๆ วัน 

 

กรณีโฮปเวลล์ เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่า อาจจะมีการเรียกร้องผลประโยชน์ เพื่อจะยุติคดีหรือไม่ เพราะบางเรื่องกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่ในศาล กระทรวงคมนาคมเจรจายอมความกันทั้งๆ ที่ยังไม่มีคำตัดสิน เช่นดังกรณี BEM ฯลฯ 

การฟ้องร้องและยอมความระหว่างรัฐบาลกับเอกชนมีมากมายในหลายหน่วยงาน นอกจากจะทำลายความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการลงทุน และยังสร้างความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน ที่ต้องไปใช้จ่ายในการเสียดอกเบี้ยเพิ่ม โดยไม่มีใครรับผิดชอบนั้น เรื่องนี้ท่านนายกฯ ควรต้องแก้ไข โดยรัฐบาลต้องออกกฎหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานใดที่ต้องการรื้อคดี ทั้งๆ ที่คดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ต้องรับผิดชอบถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากคำตัดสินของศาล

 

“ผมเสนอเรื่องนี้ให้ท่านนายกฯ พิจารณา ด้วยความห่วงใยภาพลักษณ์ของประเทศชาติ แม้ว่าผมจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผมได้ประกาศแล้วว่า ผมจะร่วมรัฐบาลด้วยความจริงใจ ทำในสิ่งถูกให้เป็นถูก ผิดให้เป็นผิด ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐบาลแล้ว จะทำอะไรถูกไปทุกเรื่อง โดยไม่ฟังคำทักท้วง เช่น เรื่องวัคซีน ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 และ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ว่าควรสั่งการให้คณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีน แต่ก็ไม่มีใครรับฟัง คุณสุทิน คลังแสง ก็ได้อภิปรายแล้วที่สภาฯ เสนอว่าหากไม่มีกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาล จ่ายเงินมัดจำค่าวัคซีน ก็ให้เสนอเป็นร่างกฎหมายมา ฝ่ายค้านจะผ่านให้ทั้ง 3 วาระรวด ถูกบันทึกเป็นคลิปส่งแพร่หลายกันไปทั่ว แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง”

บัดนี้เกิดวิกฤติระบาดรอบสาม วุ่นวายกันทั้งประเทศ นักวิชาการ และสื่อทุกสาขาวิชาชีพรายงานข่าวพร้อมทั้งเสนอบทความ ตลอดจนล่าสุดภาคเอกชนคือ สมาคมนักธุรกิจ และบริษัทชั้นนำของประเทศ กว่า 40 บริษัท ชี้แนะถึงปัญหา และเสนอว่ารัฐบาลต้องแก้ปัญหาให้ถูกทาง ทำให้เป็นข่าวดังไปทั่วโลก ยิ่งทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ถึงขนาดนี้แล้ว ตนก็หวังว่ารัฐบาลควรต้องเปิดใจรับฟังข้อเสนอแนะของทุกฝ่าย เพื่อรักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด