“เพนกวิน”ซีด ละเมิดอำนาจศาล คุก 1 เดือน สารภาพเปลี่ยนเป็นกักขัง 15 วัน

22 มี.ค. 2564 | 10:34 น.

ศาลอาญาสั่งจำคุก 1 เดือน “เพนกวิน” ละเมิดอำนาจศาล ประพฤติตัวไม่เหมาะในห้องพิจารณาคดีวันตรวจหลักฐานชุมนุม 19 ก.ย.63 สารภาพเปลี่ยนเป็นกักขัง 15 วัน

วันนี้(22 มี.ค.64) เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลอาญา รัชดาภิเษก ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา หรือ ผอ.ศาลอาญา กล่าวหา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน จำเลยคดี ม.112 และความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาล

กรณีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุมที่่้ท้องสนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย.63 และอัยการขอให้รวมสำนวนคดี ปรากฎว่า มีรายงานว่า นายพริษฐ์ ปฎิบัติตัวไม่เรียบร้อยโต้ตอบผู้พิพากษาในขณะปฎิบัติหน้าที่ ขออ่านแถลงการณ์ แม้ถูกคัดค้านก็ไม่ยอมฟัง ยังยืนยันอ่านแถลงการณ์โดยลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมีคนเขวี้ยงขวดน้ำลงพื้น


โดยศาลได้อ่านข้อกล่าวหาของ ผอ.ศาล ให้ นายพริษฐ์ ฟังจนเป็นที่เข้าใจประกอบกับมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุในห้องพิจารณาคดี และได้สอบถามพริษฐ์ จะให้การว่าอย่างไร ซึ่งนายพริษฐ์ ได้ขอเวลาระบายความอึดอัดใจไปพร้อมกับการแถลง โดยศาลอนุญาตให้นายพริษฐ์ แถลงได้ภายในเวลา 5 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ นายพริษฐ์ เดินทางมาศาลด้วยการนั่งรถเข็นวิลล์แชร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3-4 คน เป็นผู้พามาศาล โดยมีทีมพยาบาลจาก รพ.ราชทัณฑ์ 2 คน มาคอยดูแลอาการ จากการที่ประท้วงอดข้าวอดอาหารมาหลายวันแล้ว โดย นายพริษฐ์ มีสีหน้าท่าทางอ่อนเพลีย ต้องคอยดมยาดมเป็นระยะ มีพ่อแม่มาคอยให้กำลังใจในการไต่สวน 

เมื่อนายพริษฐ์ ลุกขึ้นยืนแถลงศาลเกี่ยวกับความอึดอัดที่ไม่ได้รับการประกันตัวใน 2 คดีที่ถูกฟ้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องคอยช่วยประคอง พร้อมแถลงด้วยวาจาว่า ตัวเองได้ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว เมื่อ 2,000 ปี ก่อนหน้านี้ โซเครติส ถูกประหารชีวิตด้วยยาพิษ เพราะศาลเมืองเอเธนส์ บอกว่า โซเครติส มอมเมาคนรุ่นใหม่เป็นอาชญากรร้ายแรงทางความคิด ต่อมา กาลิเลโอ ก็ถูกกักขังจนตาย จากการเสนอทฤษฎี ว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงไม่อยากให้มีการทำผิดพลาดซ้ำรอยประวัติศาสตร์โลก
 

อย่างไรก็ตาม ศาลได้ปราม นายพริษฐ์ ขอให้แถลงให้ตรงประเด็นการไต่สวนวันนี้ ซึ่งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ถ้าแถลงไม่ตรงประเด็น ศาลจะสั่งงดไต่สวน แต่นายพริษฐ์ อ้างว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และแถลงด้วยวาจาต่อ 

นายพริษฐ แถลงต่อว่า ตนเองถูกปฎิเสธสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีใดๆ โดยศาลให้เหตุผลว่ากลัวกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินว่าการกระทำของตนเองเป็นความผิดแต่อย่างใด ทั้งยังบอกว่าตนเองไม่ควรได้สิทธิประกันตัว เพราะไปเหยียบย่ำหัวใจคนไทยเท่ากับว่าศาลได้ตัดสินให้มีความผิดแล้ว จึงเป็นการขัด รธน. ผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกปฎิบัติแบบนักโทษ ไม่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของตนเอง ที่ยังเป็นนักศึกษา ไม่สามารถไปเล่าเรียนได้ตามปกติต้องเข้าห้องสมุดหาหนังสือวรรณกรรมชั้นเลิศอ่าน

ทั้งนี้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี ถ้าหากตนเองจะถูกลงโทษก็ไม่เสียใจ เพราะยังไงตอนนี้ก็ถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว จากนั้นศาลได้สอบถาม นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ว่าอยู่ในห้องพิจารณาวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่ โดยนายกฤษฎางค์ ตอบว่า วันนั้นมีจำเลยที่ได้รับความเดือดร้อนหลายคนแย่งกันพูดหลายรอบหลายหน ในส่วนของ นายเพนกวิน ไม่ได้เกลียดชังศาล แต่ต้องการอธิบายเหตุผล และความอึดอัดใจที่ไม่ได้รับประกันตัว

จากนั้น ศาลได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพในห้องพิจารณาคดีขณะเกิดเหตุ แต่ นายเพนกวิน ก้มหน้าเขียนจดหมาย โดยขอกระดาษจากผู้สื่อข่าวในห้อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบก่อนว่า เป็นกระดาษเปล่า จึงอนุญาตให้ เพนกวิน นำไปเขียน ก่อนยื่นให้กับทนายความจำนวน 3 แผ่น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ขอตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย แต่ทนายความไม่อนุญาต 

 ภายหลังเปิดภาพกล้องวงจรปิดได้ราวๆ 5 นาที ทนายความได้ไปปรึกษาคดีกับเพนกวิน จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาล บอกว่า นายเพนกวิน ยอมรับว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากสิ่งอัดอั้นที่อยู่ในใจเรื่องไม่ได้รับการประกันตัว

 

ภายหลังศาลไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ศาลจึงทำการปรึกษากันภายในองค์คณะ

เมื่อออกนอกห้องพิจารณาคดี ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายกฤษฎางค์ ทนายความ บอกว่า จดหมายทั้ง 3 แผ่น นายเพนกวิน เขียนไว้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ หากศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก จะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 15 วัน จึงถือว่าเป็นหลักฐานในคดี ไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตรวจสอบได้

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลได้อ่านคำสั่ง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า นายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหา ได้พูดตอบโต้กับผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณา และขออ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงได้อธิบายสิทธิของจำเลย และการประพฤติตนในห้องพิจารณาคดีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันที่จะอ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงไม่อนุญาตและออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในห้องพิจารณา และสั่งให้ตำรวจศาลนำตัวผู้ถูกกล่าวหาออกไปจากห้องพิจารณา แต่มีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น ผู้พิพากษาจึงพักการพิจารณาชั่วคราว

ระหว่างนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนขึ้นอ่านคำแถลงการณ์ และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในห้องพิจารณาตามคำกล่าวหา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล และประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ มาตรา 180 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษ จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน

ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิดและความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน และไม่ปรากฎว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก มีกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว นายพริษฐ์ กับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพตามเดิม