สั่งไม่จ่ายเงินกลายเป็นผิด ‘นิพนธ์’ยันฮั้วรถซ่อมบำรุง

07 ต.ค. 2563 | 06:20 น.

“นิพนธ์” งัดหลักฐานโชว์ปมเบรกจ่ายเงินจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทาง สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา ยํ้ารักษาผลประโยชน์ชาติ เหตุบริษัทชนะประมูลฮั้วบริษัทคู่แข่ง ยื่นเอกสารอันเป็นเท็จ

 

กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมรับรองมติชี้มูลความผิด นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วน (อบจ.) จังหวัดสงขลา กรณีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้อนุมัติงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาทนั้น

 

นายนิพนธ์ ได้ออกมาชี้แจงและยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองว่า การไม่อนุมัติชำระเงินดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยสุจริต เนื่องจากพบว่ากระบวนการประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนที่จะมาดำรงแหน่งนายกอบจ.สงขลานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่เพื่อประโยชน์ของประเทศ และ อบจ.

 

สั่งไม่จ่ายเงินกลายเป็นผิด ‘นิพนธ์’ยันฮั้วรถซ่อมบำรุง

 

 

“ก่อนที่ผมจะมาดำรงแหน่ง นายกอบจ.นั้น อบจ.สงขลาเปิดประมูล และประกวดราคา เพื่อจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ โดยมี 2 บริษัทเข้าร่วมประมูล และบริษัทแรกที่เข้าประมูล เป็นผู้ชนะ โดยหลังเข้ารับตำแหน่งนายก อบจ. มีการส่งมอบรถให้กับ อบจ. แต่กลับมีหนังสือจากจังหวัดสงขลา ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ก่อนการชำระเงิน เนื่องจากมีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะเกิดการสมยอมราคา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย อบจ. จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และชะลอการชำระเงิน แต่บริษัทดังกล่าว กลับเรียกร้องให้จังหวัด เร่งรัดให้ อบจ.ชำระเงินให้เสร็จสิ้น แต่ผมกลับเห็นว่า เมื่อจังหวัดสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จึงควรรอให้ผลสอบเสร็จสิ้นก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง” 

 

 

 

 

อดีตนายก อบจ.สงขลา ยํ้าว่า ผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบพบว่า คุณสมบัติของรถซ่อมบำรุงทาง ไม่เป็นไปตามคุณลักษณะที่มีการกำหนดไว้ และยังมีการสมยอมราคากันในการเสนอราคา ทำให้ผลการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นโมฆะ อบจ.จึงส่งผลการสอบสวนไปยังจังหวัด และ สตง.จังหวัดสงขลา 

 

นอกจากนั้น ยังพบพิรุธในวันที่ 24 เม.ย. 2556 มีการขยายเวลาการขายแบบประกวดราคา จาก 10-24 เม.ย. 2556 ไปถึง 25 เม.ย. ถึง 3 พ.ค. ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะการขยายเวลาจะต้องดำเนินการก่อนหมดระยะเวลาการขายแบบ และเมื่อตรวจสอบลึกไปกว่านั้น ยังพบว่าบริษัทที่ชนะการประมูล จัดตั้งขึ้นในวันที่ 22 เม.ย. ก่อนหมดเวลาประมูลเพียง 2 วันเท่านั้น และเมื่อมีการขยายเวลาการประมูลแล้ว บริษัทดังกล่าวได้มายื่นแบบประมูลในวันสุดท้าย

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้เมื่อไปตรวจสอบบริษัทคู่แข่งอีกแห่งหนึ่ง ที่แพ้ประมูลครั้งนี้ กลับพบว่า บริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่กลับไม่มีอยู่จริง ซึ่งสถานทูตไทยในออสเตรเลีย ได้ยืนยันแล้ว จึงทำให้การประกวด การประมูลราคา ไม่มีบริษัทคู่เทียบ และยังพบปัญหาทั้งการซื้อแคชเชียร์เช็คประกันซองประมูล ที่ผู้ซื้อทั้ง 2 บริษัท เป็นบุคคลใกล้ชิดกันในครอบครัว 

 

ดังนั้น จึงส่งผลให้การประมูลจัดซื้อดังกล่าวมิชอบ ที่นอกจากจะไม่มีบริษัทคู่เทียบจริงแล้ว ยังมีการยื่นเอกสาร เท็จต่อทางราชการ ปลอมแปลงเอกสารในการยื่นซองประมูล มีการสมยอมกันในการสู้ราคา เพื่อเสนอราคาเอาเปรียบหน่วยงานรัฐ ขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมแล้ว จึงทำให้นิติกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 150 และ 151 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 104 

 

“เงินจำนวนกว่า 50 ล้านบาท ที่รอการชำระเงินให้กับบริษัทที่ชนะการประมูล ยังอยู่ที่คลังของ อบจ.สงขลา” นายนิพนธ์ ระบุ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,616 หน้า 12 วันที่ 8 - 10 ตุลาคม 2563