ลุ้น‘วัคซีนโควิด’ อังกฤษทดลองกับมนุษย์จีนวิจัยกับลิงสำเร็จ

25 เม.ย. 2563 | 02:00 น.

ลุ้น “อังกฤษ” ทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กับมนุษย์เป็นครั้งแรกในยุโรป ชี้หากประสบความสำเร็จ ม.ออกซฟอร์ด วางแผนผลิต 1 ล้านโดส ภายในก.ย.นี้ ขณะที่ “จีน” ประสบความสำเร็จกับการทดลองกับลิง

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงง่ายๆ แถมหลายประเทศยังประสบปัญหาจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โดยตัวเลข ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก มีกว่า 2,717,921 ราย และเสียชีวิตจำนวนมากถึง 190,630 ราย ความหวังเดียวของผู้คนทั่วโลกที่จะสามารถยุติการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ก็คือ “วัคซีน” ป้องกัน ซึ่งหลายประเทศกำลังเร่งคิดค้นวิจัย และทดลอง อย่างขะมักเขม้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษได้เริ่มการทด ลองวัคซีนโควิด-19 กับมนุษย์ ที่เมืองออซฟอร์ด นับเป็นการทดลองกับมนุษย์ครั้งแรกในยุโรป หลังทีมนักวิจัยใช้เวลา 3 เดือนในการพัฒนาวัคซีน

การเริ่มทดสอบวัคซีนครั้งนี้ เป็น การดำเนินงานของสถาบันไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ด้วยการเริ่มการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน ที่มีชื่อเบื้องต้นว่า “ChAdOx1 nCov-19” กับอาสาสมัคร 2 คน จากจำนวนทั้งหมด 800 คน ที่เข้าร่วมรับวัคซีนเป็นอันดับแรก

ทีมนักวิจัยระบุว่า ในการคัดเลือกอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ ทางทีมได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรทาง การแพทย์ก่อน เพราะมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่น

หนึ่งในสองคนแรกที่เข้ารับวัคซีน อลิซา กรานาโต กล่าวว่า เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์ เธอจึงอยากสนับ สนุนขบวนการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เธอสามารถทำได้

 

ด้านศาสตราจารย์ ซารา กิลเบิร์ต หัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า มีความเชื่อมั่นถึง 80% ว่าวัคซีนจะได้ผล

“แน่นอนเราต้องทดสอบและเก็บข้อมูลจากมนุษย์ก่อน เราต้องแสดงให้เห็นว่ามันใช้ได้ผลจริง และหยุดยั้งไม่ให้คนติดเชื้อได้ ก่อนที่จะเริ่มใช้วัคซีนตัวนี้กับคนจำนวนมากขึ้น”

 

ลุ้น‘วัคซีนโควิด’  อังกฤษทดลองกับมนุษย์จีนวิจัยกับลิงสำเร็จ

 

สำหรับเป้าหมายขั้นต้นของการทดลองคือ ทดลองว่าวัคซีนนี้จะป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายหรือไม่

ขณะเดียวกันการทดลองกับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยที่กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มไม่ทราบว่าตัวเองได้รับการฉีดวัคซีนประเภทใด

ทีมนักวิจัยยืนยันว่า การทดสอบครั้งนี้จะไม่มีผลข้างเคียงกับอาสาสมัครและไม่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยออกซ์ ฟอร์ด วางแผนผลิตวัคซีนตัวนี้ จำนวน 1 ล้านโดส ภายในเดือนกันยายนนี้

สำหรับวัคซีนทดลองของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นวัคซีนที่สกัดจากอดิโนไวรัสในร่างกายของลิงชิมแปนซี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ให้ผลิตโปรตีนในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

นอกจากนี้ มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ยังเริ่มพัฒนาสายการผลิตวัคซีน เพื่อรองรับความต้องการอย่างเร่งด่วน กรณีที่การทดลองวัคซีนชนิดนี้ประสบความสำเร็จ

ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนนับร้อยชนิดโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากทั่วโลก เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งในอิตาลี เยอรมนี และเบลเยียม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำลังเดินหน้าพัฒนาวัคซีนร่วมกัน และคาดว่าจะเริ่มการทดลองได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก โพสต์ ได้รายงานเมื่อวันที่ 23 เมษายนนี้ว่า ทีมวิจัยจาก บริษัท ซีโนวัค ไบโอเทค บริษัทเอกชนในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ประสบความสําเร็จในการทดลองวัคซีนในลิงทดลองเพราะพบว่าได้ผลดีในการป้องกันไม่ให้ลิงเหล่านั้นติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการทดลองในสัตว์ครั้งแรกที่ได้ผลเช่นนี้

ซีโนวัค ไบโอเทค ได้ผลิตวัคซีนขึ้น 2 เวอร์ชัน นําไปฉีดให้กับลิงรีส มากาว หรือลิงในกลุ่มลิงวอก จํานวน 8 ตัว อีก 3 สัปดาห์ต่อมานำลิงทดลองกลุ่มนี้ไปสัมผัสกับไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไม่พบว่ามีลิงตัวไหนติดเชื้อแม้แต่ตัวเดียว ตรงกันข้ามลิงในกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับวัคซีน กลับติดเชื้อและออกอาการป่วยเติมที่ในหลายๆ ส่วนของร่างกาย รวม ทั้งอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรงอีกด้วย

นายเมิง เว่ยหนิง ผู้อํานวยการอาวุโสของซีโนวัค ระบุว่า ถึงแม้จะเป็นการทดลองที่จํากัดอยู่เฉพาะกับลิงเพียงไม่กี่ตัว แต่ผลที่ได้ก็สร้างความมั่นใจให้กับพวกตนได้สูงมากว่าวัคซีนนี้จะใช้ทดลองกับมนุษย์ได้ผลดี 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3569 หน้า 12 วันที่ 26 - 29 เมษายน 2562