จัด6เวทีฟังความเห็น เลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ

21 ก.พ. 2563 | 07:58 น.

“กมธ.แก้รธน.” เห็นร่วมแก้ระบบเลือกตั้ง กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบ-เคาะจัด6เวทีจัหวัดฟังความเห็น “วัฒนา” แจงสาระฟังความเห็น ไม่เน้นกฎหมาย แต่ฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข

นายไพบูลย์ นิติตะวัน

 

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่รัฐสภา  การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)  วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีราย พรรคพลังประชารัฐ  ฐานะรองประธานกมธ.ฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 7 ส่วนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งนี้ในที่ประชุมดังกล่าวได้สะท้อนความเห็นอย่างหลายหลาก และต้องการให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งส.ส.ด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ แบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อตอบสนองและสะท้อนเจตจำนงค์ของประชาชนที่แท้จริง นอกจากนั้นที่ประชุมยังลงมติเพื่อจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ  

 

นายวัฒนา เมืองสุข  รองประธานกมธ.ฯ คนที่สอง ฐานะประธานอนุกมธ.ฯ ประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  เปิดเผยว่า กมธ.ฯ จะจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน ในภูมิภาคต่างๆ รวม6 เวที โดยเริ่มจาก เวทีจ.อยุธยา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา วันที่ 7 มีนาคม, เวทีจ.ชลบุรี ที่มหาวิทยาลัยบูรพา วันที่ 8 มีนาคม, เวทีจ.ขอนแก่น ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 14 มีนาคม, เวที จ.สงขลา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วันที่ 15 มีนาคม, เวที จ.เชียงใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 18 มีนาคม และเวที กทม.ที่อาคารรัฐสภา โดยยังไม่กำหนดวันที่ที่ชัดเจน ทั้งนี้กลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมจะเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปโดยเวทีต่างๆ จะเน้นการรับฟังเสียงของประชาชน ต่อปัญหาที่เผชิญ และประเด็นที่ต้องการแก้ไข โดยไม่เน้นเรื่องของกฎหมาย ทั้งนี้หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว กมธ. จะนำประมวลความเห็นเพื่อนำเสนอเป็นรายงานส่งให้สภาฯต่อไป  

นายวัฒนา เมืองสุข

 

นายวัฒนา ยังกล่าวถึงผลการหารือกมธ.ฯต่อปัญหาของส่วนการได้มาซึ่ง ส.ส. ว่า กมธ.ฯ จากทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกันต่อปัญหาของระบบเลือกตั้ง ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนมีข้อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.), มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินการหาระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก่อนจะนำเสนอให้กมธ.ฯพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ยอมรับว่าการหารือของกมธ.ฯนั้นพิจารณาในสาระของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอาจเป็นข้อเสนอในขั้นตอนต่อไป